IF ข้อดีเพียบ แต่ทำผิดชีวิตเปลี่ยน ลดน้ำหนักไม่ได้แถมเสี่ยงโรค

0
800
kinyupen

เทรนด์สุขภาพเป็นกระแสนิยมอย่างต่อเนื่อง เกิดศาสตร์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากมาย รวมไปถึงวิธีกินแบบ IF

แต่การทำ IF ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน และหากทำ IF ผิดวิธีก็จะเป็นอันตรายกับร่างกายด้วย จากกรณีข่าว (25 มี.ค. 65) เด็ก 14 ปี ลดน้ำหนักด้วยวิธี IF ที่มีการอดอาหาร 23 ชั่วโมง กิน 1 ชั่วโมง ตลอด1ปี จนทำให้ร่างกายรวน เกิดภาวะธาลัสซีเมีย-ไขมันในเลือดพุ่ง ไม่รับอาหารทุกชนิด

กรมอนามัยออกมาเตือนว่าเด็ก อายุ12-15 ปีที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ไม่ควรทำ IF จะเสี่ยงเกิดโรคขาดสารอาหาร ส่วนวัยเจริญเติบโต กลุ่มอายุ 12-15 ปี ที่อยู่ในภาวะอ้วนสามารถทำ IF ได้

 

แต่อย่าเพิ่งอคติกับการทำ IF ไป เพราะมีงานวิจัยมากมายที่ชี้ชัดว่าการอดอาหารทำให้อายุยืนขึ้นได้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนทำ IF อย่างถูกต้อง พร้อมคำเตือนที่ถ้าทำผิดๆ แล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

 

IF คืออะไร ?

วิธีลดน้ำหนักแบบ IF หรือ Intermittent fasting เป็นวิธีที่คิดค้นโดยทีมแพทย์ที่คนทั่วโลก นิยมใช้กันมากว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นวิธีลดน้ำหนักที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริหารและคนรุ่นใหม่ เป็นวิธีลดน้ำหนักโดยการกินแบบจำกัดช่วงเวลา แต่ต้องมีสารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ

 

IF จะต้องแบ่งเวลาการกินออกเป็น 2 ช่วง คือ

  • ช่วงอด (Fasting)
  • ช่วงกิน (Feeding)

 

โดยช่วงเวลาที่ต้องงดนั้นจะทานได้เพียงน้ำเปล่า กาแฟดำ ชาเขียว เท่านั้น ซึ่งวิธีเว้นช่วงกินอาหารแบบ IF มีหลายสูตรมาก บางคนกินอาหารวัน 2 ครั้ง บางคนมื้อละครั้ง ศึกษาต่อได้ ที่นี่

 

ทำ IF แล้วดีอย่างไร?

การอดมีส่วนช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น ส่งผลดีต่อระบบการทำงานของอินซูลิน กระตุ้นการสลายไขมันที่สะสมได้ ชะลอวัย อ่อนเยาว์ขึ้น เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ และการอักเสบในร่างกายลดลง ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ และลดความเสี่ยงการเป็นโรดอัลไซเมอร์ด้วย

และผลพลอยได้จากการจัด/ปรับรูปแบบการกิน ทำให้เราไม่ทานจุกจิกจนติดเป็นนิสัย มีวินัยในการกิน

 

 

ข้อเสียและข้อควรระวังจากการทำ IF

IF คือการอดที่ต้องได้รับสารอาหารครบ ต่อให้ทำ IF โดยวิธีอดเหลือวันละมื้อ ก็ต้องรับสารอาหารให้เสมือนกินครบ 3 มื้อในวันนั้นด้วย! ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้กิน 1 มื้อ แต่กินข้าว 3 จานนะคะ มันจะดูกินเยอะเกินไป แต่ให้ใช้วิธีคำนวณสารอาหาร และจัดสรรสัดส่วนให้เหมาะสม รับประทานอาหารให้ถึง BMR และหลากหลาย สารอาหารครบ

 

ไม่มีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าการทำ IF ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่การทานวันละมื้อซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะอัดให้ได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการในมื้อเดียว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะตบะแตกได้ง่าย ซึ่งอันนี้ต้องแล้วแต่ความสามารถและขีดจำกัดของแต่ละคนด้วย

 

ใครไม่ควรทำ IF ?

  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่ขาดสารอาหาร
  • หญิงตั้งครรภ์ หรือกำลังอยู่ในช่วงพยายามตั้งครรภ์
  • หญิงให้นมบุตร
  • ผู้เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้กินยาลดความดันโลหิต
  • ผู้เป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบเผาผลาญ

ถ้าทำ IF ผิดวิธีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

  1. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  2. ปวดหัว อาเจียน
  3. ฮอร์โมนไม่สมดุล
  4. เครียด อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย
  5. ร่างกายขาดน้ำ
  6. ระบบทางเดินอาหารบกพร่อง
  7. นอนไม่หลับ
  8. ขาดสารอาหาร

 

บทความอื่นๆ เกี่ยวกับ IF

พอดแคสต์อื่นๆ เกี่ยวกับ IF

 

การกินคือตัวชีวิตสุขภาพทุกอย่าง ดังนั้นก่อนจะเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารควรศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน และเพื่อความมั่นใจก่อนที่จะลดน้ำหนักควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปลอดภัยจะดีที่สุด แม้ IF จะเป็นวิธีที่ดีและได้ผลในหลายๆ คนแต่ร่างกายของคนเรานั้นแตกต่างกัน วิธีลดน้ำหนักของคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่งก็ได้

kinyupen