หลายๆคน คงเตรียมความพร้อมกันบ้างแล้วว่าชีวิตหลังเกษียณของเราจะทำอะไรดี แพลนต่างๆที่วางไว้จะยังคงอยู่หรือไม่ การสำรองเงินไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าต้องเก็บกันเท่าไหร่ 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาวางแผนด้วยกันค่ะ
จากการเปิดเผยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ พบตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ซึ่งการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่เพียงพอจะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน
“ผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน รองลงมาคือภาครัฐต้องสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน ส่งเสริมเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ และฝั่งนายจ้าง ควรดูแลพนักงานไม่ใช่เฉพาะเวลาทำงาน แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย” นางพรอนงค์กล่าว
โดยนางพรอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานในระบบควรมีการออมเงินที่ 15% ของรายได้ เพราะหากออมน้อยกว่านี้ อนาคตทางการเงินจะมีความลำบากแน่นอน หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่หากสูงกว่า 30% ถือว่าดี ซึ่งการออมต่ำกว่า 10% อนาคตต้องพึ่งพาการถูกลอตเตอรี่ ได้มรดก หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และหากใครมีการออมเกิน 15% อยู่แล้วให้ใส่ความรู้ด้านการลงทุนเข้าไปด้วย
ในส่วนแรงงานนอกระบบหรืออาชีพอิสระ ควรสร้างมีวินัยด้านการออมด้วยตัวเอง ไม่เน้นลงทุนในความเสี่ยงสูงรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 และการลงทุนในกองทุนที่ให้ผลในระยะยาว เป็นต้น