เป็นไปตามคาด ที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา 0.75% สูงกว่าประมาณการเดิมเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มว่าการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 26-27 กรกฎาคม 2565 ก็น่าจะขึ้นอีก 0.75%
Federal Reserve Board Chairman Jerome Powell, June 15, 2022. REUTERS/Elizabeth Frantz
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิเคราะห์ไว้น่าสนใจ ในเฟซบุค Thirachai Phuvanatnaranubala ว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ควร จึงต้องแก้ตัว ด้วยการขยับแต่ละก้าวสูงขึ้น เพื่อจะเรียกคืนความเชื่อมั่นว่ายังมีพลังที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้จริง
แต่การขึ้นดอกเบี้ย กว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ จะกินเวลา 18-24 เดือน จึงน่าติดตามว่า จังหวะการขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับเศรษฐกิจจริงในอีก 2-3 เดือนหรือไม่?
เพราะข้อมูลล่าสุด ที่รวบรวมโดย Adam Taggart แสดงชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) อาจจะเร็วขึ้นเป็นปลายปีนี้
ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐ ด้าน demand pull เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ในสมัยทรัมป์ และต่อเนื่องมาในสมัยไบเดน
พอเฟดเริ่มกลับนโยบายเป็นตึงตัว ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านก็ขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดขายบ้านสร้างใหม่ ลดลง 19% จากเดือน เม.ย. 2021 และเจ้าของบ้านเก่าที่ประกาศขายเอง มีถึง 19% ที่ต้องลดราคาลง เพื่อจูงใจคนซื้อ
ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนรถยนต์ก็เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดขายชะลอลง
กำลังซื้อ หรือรายได้ของประชาชน ลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้วยการแจกเงินประชาชนชองรัฐบาลสหรัฐเริ่มหมดลง ทำให้คนอเมริกันหมดกำลังซื้อ
ปัญหาใหญ่ คือ ตัวเลขการปลดพนักงานที่เพิ่งจ้าง และตัวเลขแถลงข่าวยกเลิกการรับสมัคร พุ่งขึ้นใกล้ระดับวิกฤตโควิดแล้ว
และปัญหาที่กำลังตามมา คือ อัตราเงินออมของคนอเมริกันขณะนี้ ลดลงต่ำเท่ากับปี 2008 ก่อนหน้าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
เพราะปัญหาจากอภิมหาแซงชั่นสงครามยูเครน ซึ่งก่อเงินเฟ้อด้าน cost push อันเกิดจากอาหารขาดแคลน และน้ำมันแพง นั้น
ยังเพิ่งเข้าโค้งแรกเท่านั้น!
แปะข้างฝากไว้เลยว่า ปลายปีนี้ฝีที่กลัดหนองมาเต็มที่ น่าจะแตกให้ได้เห็นอย่างแน่นอน
ประเทศไทยเตรียมรับมือ อย่ารอให้ฝีแตกแล้วค่อยแก้!!