ต้มยำกุ้ง “ยาถ้วยใหญ่ ที่อร่อยที่สุดในโลก” | 100+ Story

0
586
kinyupen

อาหารเป็นยาอย่างหนึ่งของคนไทย เรื่องสมุนไพรต้องยืนหนึ่ง วันนี้เราจะพูดถึงเมนู “ต้มยำกุ้ง” ที่โด่งดังไกลไปถึงเมืองนอกกัน

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำแง่คิดดีๆ จาก พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน หรือ Khunphiphat เจ้าของผลงาน 100+ Podcast ที่มาพร้อมกับการไขความลับใช้ชีวิตให้ยืนยาว แต่วันนี้มาในรูปแบบเรื่องราวแง่คิด ชีวิต ใน 100+ Story

 

อ่าน “อาหารเป็นยา” กินให้ถูกโรค | 100+ Story

มรดกทางวัฒนธรรม กับอาหารที่อุดมด้วย สมุนไพรนานาชนิด วิตมิน แร่ธาตุ โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต มีไขมันน้อย เปี่ยมด้วยสรรพคุณทางยามากมาย

 

ซดชามนี้ทั้งอร่อยแถมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรค ต่อต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ช่วยในการไหลเวียนโลหิต ฯลฯ

กุ้ง เป็นเนื้อสัตว์ที่อุดมด้วยโคเลสเตอรอลชนิดที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย รวมทั้งมีธาตุสังกะสีและซีลีเนียมในปริมาณสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มความต้านทานต่อการติดเชื้อ

เครื่องสมุนไพรต้มยำ เช่น พริก ข่า ตะไคร้ หัวหอม ใบมะกรูด เห็ดฟาง กะทิ ยังมีสรรพคุณทางยามากมาย แก้ท้องอืด แก้ไอ ลดอาการอักเสบ แก้ช้ำใน ขับลมในลำไส้ แก้คลื่นเหียน แก้จุกเสียด ได้ดี ฯลฯ

 

ต้มยำกุ้ง อาหารอันเป็นที่รู้จักของนานาอารยะ ชาวต่างชาติทุกคนที่นิยมเมนูอาหารไทย ต่างเคยชิมลิ้มรสมาแล้ว ร้านอาหารไทยในต่างประเทศทุกแห่งต้องมี “ต้มยำกุ้ง” อยู่ในรายการอาหารที่ต้องชิม

ในปี พ.ศ. 2554 กระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมกับน้ำปลาไทย และผัดไทย

 

 

แล้วคนไทย บ้านเมืองไทยของเราเล่า รู้จักต้มยำกุ้งมาแต่เมื่อใด?

สำหรับประวัติของอาหารชนิดนี้ ไม่มีหลักฐานบันทึกแน่ชัดที่บอกถึงจุดกำเนิดของอาหารชนิดนี้ แต่อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศได้เขียนถึง ต้มยำกุ้ง ไว้ว่า เมื่อรับข้าวเจ้าจากอินเดียเข้ามาพร้อมกับการค้าทางทะเลอันดามันและศาสนาพราหมณ์-พุทธทำให้ “กับข้าว” เปลี่ยนไปเริ่มมี “น้ำแกง” เข้ามาหลากหลาย ทั้งแกงน้ำข้นใส่กะทิแบบอินเดียกับแกงน้ำใสแบบจีน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับอาหารประเภท “ต้มยำ” ในหนังสือ “ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ ร.ศ. 108” (พ.ศ. 2432) โดยกล่าวถึงต้มยำปลา ดังเช่น ต้มยำปลาช่อน ต้มยำปลาหมอ ต้มยำปลากระเบน ฯลฯ

หากวาระนั้นก็ยังไม่มีการเอ่ยถึง “ต้มยำกุ้ง” !

 

ครั้นปี พ.ศ. 2441ได้มีหนังสือ ปะทานุกรม การทำของคาวของหวาน อย่างฝรั่งแลสยาม บันทึกสูตร “ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง” เขียนโดยครูอเมริกันเป็นภาษาอังกฤษ แล้วแปลและเรียบเรียงโดย “นักเรียนดรุณีโรงเรียนกูลสตรีวังหลัง” หากสูตรต้มยำกุ้งทรงเครื่องในหนังสือเล่มนี้ ดูจะแตกต่างมากจากต้มยำกุ้งที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ดังเนื้อหาบันทึกถึงเครื่องปรุงต้มยำกุ้ง ที่ฝรั่งยุคนั้นรู้จักไว้ว่า

 

“…เนื้อหมูต้มแล้วฉีกหนักสามบาท ปลาใบไม้เผาแล้วทุบฉีกสองบาท ปลาแห้งเผาแล้วฉีกสองบาท กระเทียมดองปอกเอาแต่เนื้อซอยสามบาท แตงกวาปอกเปลือกแล้วซอยสามบาท มะดันซอยสามบาท พริกชี้ฟ้าหั่นหนึ่งบาท ผักชีเด็ดหนึ่งบาท…”

 

หนังสือ “ของเสวย” ตำรับอาหารจาก ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร อันเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกถึง “ต้มยำกุ้ง” ลักษณะคล้ายคลึงกับสูตร “ต้มยำกุ้ง” ที่คนไทยได้กินและรู้จักกันอยู่ในปัจจุบันและมีวิธีทำดังนี้

“เอากุ้งสดมาต้มกับน้ำท่า ใส่น้ำปลาหนักสองบาท ต้มไปจนเนื้อกุ้งสุก…ตักเอาน้ำต้มกุ้งสามสิบแปดบาทใส่ลงในชาม แล้วเอากุ้งปอกเอาแต่เนื้อฉีกเป็นฝอยหนักสี่บาท น้ำกระเทียมดองหนึ่งบาท น้ำปลาเจ็ดบาท น้ำตาลทรายหกสลึง ใส่ลงในน้ำต้มกุ้ง แล้วเอาของที่ชั่งไว้ใส่ลงด้วย…ถ้าไม่เปรี้ยว เอาน้ำมะนาวเติมอีกก็ได้ เมื่อรศดีแล้วเอาพริกชี้ฟ้ากับผักชีโรย เป็นใช้ได้”

 

Food as Medicine

100+

kinyupen