สิ่งที่ทุกคนควรทำในช่วงปลายปีระหว่างทรงตัวด้านอาชีพการงาน คือตรวจสอบทบทวนแผนและเงินลงทุนล่วงหน้าเพราะถ้าสุขภาพดีก็สบายใจ แต่ถ้าไม่ดีหรือแย่ก็ปรับแก้ไข โยกย้ายแต่เนิ่น ๆ โดยปกติพื้นฐานการวางแผนการเงินมี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ
- บริหารเงินออมระยะยาว ซึ่งต้องคำนึงถึงรายได้กับรายจ่าย
- จัดสรรเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละเดือนให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่มีเงินเดือนตายตัวแน่นอน
- มีเงินออมสำรองฉุกเฉินพร้อมลดภาระหนี้สินที่ไม่จำเป็น และถ้าวันนี้ยังพอมีเงินเหลือควรกันส่วนหนึ่งทำประกันสุขภาพเพื่อป้องกันรายจ่ายที่ไม่คาดคิดโดยควรเลือกประเภทครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยภายนอก (ประกันส่วนใหญ่มักเน้นแต่ครอบคลุมรักษาพยาบาลผู้ป่วยภายใน)
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักมองข้ามการเตรียมเงินเพื่อปกป้องความมั่งคั่ง คือมักนำเงินไปลงทุนทันทีเพราะต้องการได้ผลลัพธ์ที่เติบโตเร็วขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ อย่างเช่น โควิด-19 ขึ้นมา แล้วไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอ (ในระดับ 3-6 เดือน) หรือ มีหนี้สินอยู่สูง ส่งผลให้จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ที่กำลังลงทุนอยู่ในราคาถูกหรือขาดทุน เพื่อนำมาใช้จ่าย ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้ไม่สามารถปกป้องความมั่งคั่งได้อีกด้วย
การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) เป็นการวางแผนทางการเงินเพื่อให้มีดอกผลเติบโตเพิ่มมากขึ้นดังนั้นเราอาจต้องทบทวนและวางหลักการเพื่อสร้างสุขภาพการเงินให้แข็งแรงในระยะยาวโดยหลักการมี 3 ขั้นตอน คือ
- ประเมินว่าตนเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด หรือ ต้องการผลตอบแทนเท่าใดต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ่งที่ควรนำมาช่วยในการประเมิน คือช่วงอายุ อาชีพ และภาระครอบครัว
- เลือกและจัดสรรเงินลงทุนโดยคุมความเสี่ยงและผลตอบแทน ซึ่งควรกำหนดประเภทการลงทุนเช่นไม่ลงทุนในตราสารใดเกิน 30% หรือไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวกันมากกว่า 40% ยกตัวอย่างเช่นภาวการณ์โควิด 19 อุตสาหกรรมที่ดิ่งเยอะสุดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งโรงแรม ท่าอากาศยาน สายการบิน ดังนั้นหากลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เป็นส่วนใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบสูง
- ติดตามผลโดยควรมีเครื่องมือเพื่อดูว่า การลงทุนที่เลือกนั้น สามารถดำเนินได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทหลักทรัพย์จะมีบริการและเครื่องมือให้อยู่แล้ว
สิ่งที่กระทบจากสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจ การเมืองถือเป็นวิกฤติที่เราไม่ได้คิดไว้ในแผนตั้งแต่แรก ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนลดลง และผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรือการที่ทั่วโลกดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้แผนการลงทุนในเงินฝาก หรือหุ้นกู้ที่เราคิดว่าอาจได้ผลตอบแทนในระดับ 4-5% นั้นลดลงเหลือเพียง 2-3% หรือแม้แต่ค่าครองชีพ และค่ารักษา ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าที่วางแผนไว้ช่วงแรก ก็ต้องมีการปรับแผนการลงทุนกันใหม่เช่นกัน
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จึงแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพการเงินเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนให้บรรลุแผนที่วางไว้ เหมือนกับแผนธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การวางแผนการเงินที่ดีไม่ใช่การมองหาแผนการเงินที่ดีที่สุด หรือสมบูรณ์แบบที่สุด แต่เป็นแผนการเงินที่ยืดหยุ่นและสามารถทำให้เราอยู่รอดได้ในภาวการณ์เช่นนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง