เจาะเวลาไปหาเรื่อง เรื่องเล่ามื้อเช้า #ตอน3 แนวคิดปฏิวัติอาหารเช้า

0
391
kinyupen

อาหารเช้าสำคัญจริงหรือไม่…ใครกำหนด แล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำท่านย้อนตำนานเรื่องนี้ที่เราสรุปจาก Podcast 100+ : EP5 เรื่องเล่ามื้อเช้า มาฝากกันต่อเป็นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นบทสรุปของเรื่องนี้

 

ย้อนที่มาจากเดิมมื้อเช้าเคยสำคัญต่อผู้คนสมัยกรีก โรมัน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุโรปยุคกลางเกิดสร้างมาตรฐานใหม่ หรือ New normal โดยชนชั้นปกครองและกลุ่มศาสนจักร ด้วยการอุบัติความเชื่อที่ว่ามื้อเช้าเป็นสิ่งไม่ดี เป็น 1 ในบาป 7 ประการ และมองว่ามื้อเช้าเป็นเรื่องของผู้ที่ใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ

แล้วทำไมอาหารเช้าจึงได้รับความนิยมกลับขึ้นมาอีกครั้ง?

 

ความเชื่อที่ว่าอาหารเช้าเป็นสิ่งไม่ดีได้ถูกปฏิวัติขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นจากราชสำนักในอังกฤษ ในยุคของ 2 พระราชินีที่มีนามว่า อลิซาเบธ เหมือนกัน พระองค์แรกคือ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ (เอลิซาเบธ วูดวิลล์) พระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิรด์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ยอร์ก โดยมีบันทึกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1451 ระบุว่า ช่วง 6 โมง พระนางอลิซาเบธ ได้เสวยกระยาหารเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในบันทึกใช้คำว่า Breakfast

 

ในรายละเอียดอาหารเช้าตามบันทึกของพระนางแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่มื้อเบาแน่ๆ เพราะมีเนื้อสะโพกวัวต้มสุก เสวยร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีลักษณะคล้ายเบียร์ผสมจากข้าวบาร์เลย์ บันทึกอาหารเช้าพวกนี้อยู่ในบันทึกช่วยจำของทางราชสำนักอังกฤษ โดยมีหมายเหตุว่าพระนางให้ไปบอกพ่อครัวให้ไปแก้ไขที่เนื้อต้มสุกเกินไป และเบียร์มีรสจืดเกินไปด้วย ซึ่งเป็นที่อนุมานได้ว่าเมื่อพระราชินีสวยอาหารเช้าเป็นธรรมเนียม ข้าราชบริพารและขุนนางก็จะนิยมทำตามด้วย

 

บันทึกอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ โดยพระนางเป็นธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในบันทึกระบุว่า พระนางตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเสด็จเยี่ยมพระราชวังของพระนางแมรี่แห่งสกอตแลนด์ ก็มีการจัดการประชุมทูตในตอน 8 โมงเช้า เมื่อเจมส์ มาร์วิส มาถึงพบว่าพระนางกำลังเดินเล่นอยู่ในสวน พร้อมเสวยกระยาหารเช้าไปด้วย บันทึกเจมส์บอกว่าอาหารเช้าของพระนางประกอบด้วย ขนมปังขาว เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และสตูทำจากเนื้อวัว

 

ประเพณีนิยมในราชสำนักของชนชั้นสูงก็ทำสิ่งที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไปในเวลานั้น ก็คืออนุญาตให้ตัวเองและอนุญาตให้ขุนนางชั้นสูง ราชวงศ์ทานมื้อเช้าได้โดยไม่สนใจคำเตือนของหมอ หรือ ศาสนจักร ต่อมาค่านิยมนี้แพร่หลายในยุโรป ราชวงศ์ดัชเชส ดยุคทั้งหลายเริ่มต้นทานมื้อเช้ากันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีลักษณะคล้ายของควีนอลิซาเบธที่ 1 ก็คือมีขนมปัง 1- 2 ก้อน เบียร์ อาหารเสริมต่างๆ จากปลา ปลาหมึก ต่อมาในศตวรรษที่ 17 มีหลักฐานว่าพระมเหสีของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เสวยสตูทุกเช้าโดยจุ่มเข้ากับขนมปัง เกิดเป็นวัฒนธรรมการกินสตูกับขนมปังมาจนถึงทุกวันนี้

 

จากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นยุคที่เรียกว่า Early Modern Period ของชาวยุโรป ชนชั้นสูงจะกินเนื้อไข่ ข้าวโอ๊ตต่างๆ และขนมปังเป็นอาหารเช้า และส่วนใหญ่ก็จะทานอาหารเพียง 2 มื้อ คือ เช้า และ เย็นที่จะเริ่มต้นประมาณ 5 – 6 โมงเย็น ยกเว้นที่มีงานปาร์ตี้ก็จะดึกหน่อย ต่อมาเมื่อมีความเจริญมากขึ้นผู้คนเข้าสังคมกันมากขึ้น อยู่ดึกกันมากขึ้น อาหารเย็นก็ถูกผลักออกไปประมาณหนึ่งทุ่มเรียกว่า Dinner ส่วนถ้ามื้อดึกออกไปอีกก็จะเรียกกันว่า supper

 

เมื่อชนชั้นสูงในสังคมเริ่มรับประทานอาหารเช้าเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติก็ถูกถ่ายทอดมายังชนชั้นกลางในสังคม ในที่สุดวงการแพทย์และศาสนจักรก็ต้องยอมรับอาหารเช้ามากขึ้น ค่อยๆ ลดปฏิกิริยาต่อต้าน ด้านลบ จนอาหารเช้าได้รับชัยชนะครองใจมวลชนในที่สุด ส่งผลให้อาหารเช้ากลายเป็นมาตรฐานการกินของสังคมชาวยุโรปเรื่อยมา ก่อนที่แนวคิดนี้จะแพร่หลายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

แล้ววันนี้คุณทานมื้อเช้าหรือยัง?

 

เกร็ดน่ารู้ : มื้อเช้าชาวยุโรป

  • ศตวรรษที่ 16 จะมีกลุ่มเศรษฐีใหม่ หรือ พ่อค้าวานิชที่ร่ำรวย รับเอาวัฒนธรรมโครงสร้างการทานมื้อเช้าเข้ามา โดยคนกลุ่มนี้จะสร้างห้องรับประทานมื้อเช้าขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ปนกับห้องรับประทานมื้อเย็น
  • มื้อเช้ายุควิกตอเรีย หรือ สมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก โดยมี 3 คอร์ส ทั้งไข่ปลา แฮม ซีเรียล ผลไม้ ขนมปังทาเนย รวมไปถึงชา กาแฟ และเริ่มมีการเชิญแขกมาเพื่อทานร่วมกัน
  • เมื่อมีการทานมื้อเช้าเป็นที่นิยม ประเภทของอาหารต่อมื้อมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาต่อมื้อที่นานมากขึ้น ก็เริ่มมีการทานมื้อเช้าควบรวมกับมื้อเที่ยงไปเลย โดยการทานมื้อใหญ่ที่ยาวนานแบบนี้เรียกว่า Brunch
  • มื้อเช้าของกลุ่มเศรษฐี ขุนนาง หรือ ผู้มีอันจะกินในยุโรป จะมีสารอาหาร มีโปรตีน จากเนื้อ นม ไข่ครบถ้วน ต่างจากมื้อเช้าของชนใช้แรงงานสมัยนั้นที่จะได้รับโปรตีนมาจากถั่วลิสง

 

kinyupen