เคล็ดวิธีก่อน “เออรี่รีไทร์”

0
1137
kinyupen

 

“ต่อให้วันหนึ่งเราไม่มีงานประจำและไม่ได้มีรายได้ประจำ ไลฟ์สไตล์เราต้องไม่เปลี่ยน ฉะนั้นเวลาใครจะตัดสินใจว่า ฉันรีไทร์เถอะ ต้องถามว่าถ้าหลังรีไทร์โดยที่ไม่มีเงินเดือนประจำ คุณยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมไหม ถ้าบอกว่าไม่ล่ะก็ คุณทำงานต่อไปเถอะ”

สุพัฒน์ วัฒนกุลจรัส (รักษ์)

อดีต Creative Director ที่ดูแลลูกค้า Global Brand

 

 

มุมคิดของหนึ่งในผู้เกษียณตัวเองก่อนกำหนดเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่ใจอยากเป็นและหาคำตอบ ภายใต้หลักคิด “สร้างวินัยการเงิน – ต่อยอดเงินเก็บ – ไม่สร้างหนี้ใหม่ –ไลฟ์สไตล์ไม่เปลี่ยน” เห็นได้ว่าการวางแผนการเงินและการบริหารเงิน คือ หัวใจสำคัญของการมีเงินเพื่อยังชีพหลังเกษียณ ซึ่งตรงกับแนวคิดของใครหลายคน

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า…จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2560 พบว่ามีคนไทยเพียง 25% เท่านั้นที่วางแผนการเงินสำเร็จและมีเงินเพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณ ดังนั้นถ้าใครที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือ วางแผนจะเออรี่รีไทร์ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต อยากฝากพิจารณา 4 ข้อนี้ดูสักนิด เพื่อเช็คความพร้อมว่า “เราควรเกษียณหรือยังนะ

 

1. เงินที่มีอยู่พอต่อการใช้ได้นานแค่ไหน

ควรตั้งสมมติฐาน โดยประเมินคร่าวๆ จาก “จำนวนปีที่คาดจะมีชีวิตหลังเกษียณ x ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ” ซึ่งโดยหลักที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 70-80% ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ ซึ่งแต่ละท่านก็จะมีอัตราการใช้จ่ายที่จำเป็นแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม แต่อย่าลืมบวกเงินสำรองฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดไว้ด้วยล่ะ

 

2. หนี้ยังมีอยู่ไหม

ถ้าใครเกษียณแล้วยังมีหนี้สิน ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด รถ หรือ บัตรเครดิต นั่นหมายถึงคุณต้องแบ่งเงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมาผ่อนชำระ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก่อนเกษียณ ควรพยายามเคลียร์หนี้ให้หมด โดยเฉพาะกลุ่มดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้รถยนต์ ส่วนหนี้บ้านที่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนาน หลายคนไม่สามารถเคลียร์ได้หมดในวันเกษียณ ก็ควรพยายามเคลียร์ หรือ โปะหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้แบบคล่องตัวขึ้น

 

3.วางแผนประกันชีวิตช่วยได้

ประกันชีวิตแบบบำนาญ แม้อาจต้องจ่ายเบี้ยเป็นระยะเวลานานและกว่าจะได้เงินคืนที่เป็นดอกผล ก็ต้องรอวันเกษียณ แต่จริงๆ แล้วประกันประเภทนี้จะช่วยคุณได้มากหลังเกษียณ เพราะจะทำให้ได้รับผลตอบแทน หรือ เงินต้นจากบริษัทประกันที่ทยอยจ่ายคืนเป็นเงินบำนาญจำนวนเท่าๆ กันทุกปี ตั้งแต่เริ่มเกษียณ (เช่น อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี) ไปจนถึงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ เช่น 85 ปี หรือ 90 ปี ดังนั้น หากทำไว้ตั้งแต่ตอนมีรายได้ประจำก็การันตีได้ว่าหลังเกษียณจะได้เงินบำนาญทุกๆ ปีแน่นอน..ลองเลือกแผนประกันที่เหมาะสมกับคุณดู

 

4.ซ้อมใช้ชีวิตหลังเกษียณ

อาจจำลองการใช้ชีวิตจริงสักเดือน สองเดือน ว่าถ้าเกษียณจริงๆ จะใช้ชีวิตอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วมาประเมินว่าถ้าอย่างนั้น แต่ละเดือนเราควรมีเงินเท่าไร และไลฟ์สไตล์บางอย่าง เช่น การช้อปปิ้ง ทานอาหารนอกบ้าน การเดินทางท่องเที่ยว ถ้าต้องตัด หรือ ลดลงไป ด้วยข้อจำกัดของเงินเก็บที่เรามีอยู่ เรายังมีความสุขกับชีวิตหรือไม่ ถ้าเงินยังไม่พอต้องเก็บเพิ่มเท่าไหร่ และอย่าลืมคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วยล่ะ

kinyupen