ย้อนอดีต “กาฬโรค” ที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

0
1141
kinyupen

ย้อนประวัติศาสตร์ความรุนแรงของโรค “กาฬโรค” โรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์ฟันแทะ นับเป็นโรคร้ายเก่าแก่ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้านคน รวมถึงไทยที่คาดว่าน่าจะระบาดตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง จนถึง สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนค้นพบวัคซีนป้องกันได้ในปี ค.ศ.1897 ล่าสุดจีนออกคำเตือนระดับสาม หลังพบผู้ป่วยติดโรคนี้อีกครั้งที่มองโกเลีย

 

กาฬโรค
ภาพจาก : Reuters

 

จีนออกคำเตือนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือกับการระบาดของกาฬโรค หลังจากโรงพยาบาลท้องถิ่นเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีนพบผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นกาฬโรค พร้อมกับคำสั่งห้ามการล่าสัตว์และการกินสัตว์ที่เป็นพาหะโรคระบาดซึ่งเป็นสัตว์ประเภทฟันแทะ โดยเฉพาะตัวมาร์มอต (marmots) หรือตัวกระรอกขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคครั้งนี้ เมื่อมีรายงานว่าพี่น้องสองคนในพื้นที่ล้มป่วยหลังรับประทานเนื้อของมัน

 

กาฬโรค
ภาพจาก : whitemarmotte.com

 

จีนพบผู้ป่วยกาฬโรคในมองโกเลีย 4 รายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งรวมถึงกาฬโรคปอดบวม 2 รายซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงกว่ากาฬโรคปกติทำให้ล่าสุดจีนต้องเตรียมรับมือกับการระบาดของโรคกาฬโรค เนื่องจากในประวัติศาสตร์เคยเป็นโรคที่เคยเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก รู้จักกันในชื่อ “Black Death” คร่าชีวิตชาวยุโรปไปหลายสิบล้านคน

 

กาฬโรค เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) แพร่จากสัตว์ฟันแทะและหมัดของมัน ซึ่งแพร่เชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestis ไปยังสัตว์อื่นอีกหลายชนิดรวมทั้งคน

 

อาการและอาการแสดงเริ่มแรกของโรคกาฬโรค จะยังไม่จำเพาะ คือ มีไข้ หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้ออาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บคอ และปวดศีรษะ อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบจะเกิดในบริเวณที่ต่อมเหล่านั้นรับน้ำเหลืองมาจากบริเวณที่ถูกหมัดกัด มักเป็นบริเวณขาหนีบ และอาจจะพบร่องรอยของแผลหมัดกัดเหลืออยู่ ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบจะบวม แดง เจ็บและอาจจะกลายเป็นฝี มักจะมีไข้ร่วมด้วยเสมอ ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่ ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม หากไม่ได้รับการรักษาก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ ร้อยละ 50-60 โรคกาฬโรคนี้นับเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข

 

กาฬโรคในคนที่แพร่ระบาดทั่วโลกเป็นผลจากการที่คนถูกหมัดหนู (Xenopsylla cheopis หรือ oriental rat flea) ที่มีเชื้อกัด สำหรับปัจจัยอื่น ได้แก่ การจับต้องสัตว์ที่เป็นโรคโดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ กระต่ายและสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ การหายใจละอองเชื้อผู้ป่วย หรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น แมว สุนัข การถูกสัตว์กัด การสัมผัสกับหนองฝีจากสัตว์ หรือการจับต้องตัวอย่างเชื้อที่เพาะเลี้ยงใน ห้องปฏิบัติการอย่างไม่ระมัดระวัง การติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกหมัดคน (Pulex irritans) กัดเป็นสาเหตุสำคัญในสถานที่ที่มีการระบาดของกาฬโรค หรือมีหมัดในสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมาก

 

กาฬโรค
ภาพจาก : pgblazer.com

 

กาฬโรค หรือ มรณะดำ หรือ “The Black Death” นับเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ในอดีตมีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคเกิดขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่

 

ช่วงที่ 1 ยุคกลางตอนต้น ในสมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก คริสต์ศตวรรษที่ 6 ในระหว่างปี ค.ศ. 541-542 คาดกันว่ากาฬโรคมีต้นกำเนิดในจีนแพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ กอปรกับนครแห่งนี้มีหนูและหมัดเป็นจำนวนมากจึงระบาดอย่างรวดเร็ว มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยวันละ 10,000 คน ต่อมาแพร่เข้าสู่เมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ.588 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน จำนวนประชากรในยุโรปลดลงกว่า 50% ในช่วง ค.ศ.541-700

 

ช่วงที่ 2 ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-19 เรียกการระบาดนี้ว่า “Great Pestilence” เริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีนระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม (Silk Road) กระจายไปทั่วเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกา และ ยุโรปสันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวจีน-มองโกลเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ในยุโรป ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในยุโรปอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรียกกันว่า “แบล็กเดธ” (Black Death) การระบาดในยุโรปช่วงนี้มีประชากรตายประมาณ 25 ล้านคน

 

ช่วงที่ 3 ศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งสุดท้าย เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี ค.ศ.1855 มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกทวีปของโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค จนใน ค.ศ.1894 Alexandre Emile Jean Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบเชื้อก่อโรคคือ เชื้อแบคทีเรีย Bacillus pestis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด ได้มีการตั้งชื่อเชื้อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบว่า “Yersinia”

หลังจากค้นพบแบคทีเรีย “Yersinia pestis” นำไปสู่การคิดวิธีรักษากาฬโรค มีการพัฒนาและทดลองใช้วัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในต่อมน้ำเหลืองเป็นครั้งแรกในปี 1897 ปัจจุบันนี้กาฬโรคสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็วโดยใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ ปัจจุบันไม่ค่อยพบการระบาดของโรคนี้

 

สำหรับการระบาดของกาฬโรคในประเทศไทย จากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182 ว่า ก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถูกเนรเทศมาจากเมืองจีน ขึ้นสำเภามาลงที่เมืองปัตตานี แล้วย้ายอยู่ตามเมืองท่าชายทะเลต่างๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช กุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) เพชรบุรี บางกอก แล้วมาปราบโรคระบาด สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1350 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ของ Black Death ในยุโรป และจากข้อมูลการระบาดของกาฬโรคในจีนซึ่งร่วมสมัยกันอยู่ โรค “ห่า” ที่พระเจ้าอู่ทองปราบได้ จึงคาดว่าโรค “ห่า” ที่กล่าวถึงน่าจะเป็น “กาฬโรค”

 

กาฬโรค
ภาพจาก : history.com

 

ระยะต่อมาพบว่ากาฬโรคจากเมืองจีนยังได้มีการแพร่กระจายเข้ามาในไทยอีก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามเอกสารเก่า (สำเนาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ร.ศ.116 พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ.116) เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2440 ว่า

 

“กาฬโรค (คือโรคห่า) ได้เกิดขึ้นที่เมืองซัวเถานั้น……กำปั่นลำหนึ่งลำใดออกจากเมืองซัวเถาและจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมอที่เกาะไผ่ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว และถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่ากาฬโรค……ไม่ได้มีและได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไปจนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้”

 

สำหรับรายงานการระบาดของกาฬโรคอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยนั้น มีรายงานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 ว่าพบการระบาดเกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้าที่จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคติดมาจากเรือสินค้าที่มาจากเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จากนั้นกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับจังหวัดพระนคร โดยทางบก ทางเรือและทางรถไฟ แต่ไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2456 มีรายงานว่าเกิดกาฬโรคระบาดที่จังหวัดนครปฐม มีคนตาย 300 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นรายงานการระบาดของกาฬโรคครั้งสุดท้ายในประเทศไทย จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยจนปัจจุบันนี้

kinyupen