“ปาท่องโก๋” ของทอดยอดฮิตที่กินคู่กับกาแฟหรือน้ำเต้าหู้ยามเช้าของทุกคน แต่มีน้อยคนนักที่รู้ว่าปาท่องโก๋ที่ทานตามสภากาแฟ จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียกว่าปาท่องโก๋ ส่วนปาท่องโก๋จริงๆ ไม่ได้หน้าตาคล้ายกันเลยสักนิดเดียว กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาแฉตัวจริงให้ทุกคนดูกัน
แท้จริงปาท่องโก๋ตัวจริง ไม่ได้เรียกว่าปาท่องโก๋
สาเหตุของการเรียกผิดนี้เกิดจากการเพี้ยนเสียงของคำจีนกวางตุ้งที่ออกเสียงว่า “ปากต่องโก๊ว” หรือในภาษาจีนกลางว่า “ไปลังกาว” ซึ่งใช้เรียกขนมรูปร่างสี่เหลี่ยม ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และน้ำ แล้วนำไปนึ่งเนื้อสัมผัสคล้ายขนมถ้วยฟู
ส่วนขนมปาท่องโก๋ตัวปลอมที่เราทานกันเอร็ดอร่อยในไทยนั้นมีชื่อเรียกจริง ๆ ว่า “โหยวเดียว” ในภาษาจีนกลาง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบ ข้อสรุปว่า ใครกันที่เป็นต้นตอของการเรียกผิดครั้งนี้
แต่เรียกกันจนชินปากขนาดนี้คงไม่ต้องเปลี่ยนคำเรียกใหม่ เดี๋ยวจะงงกันเปล่าๆ สำหรับใครที่รู้แล้วในไทยก็ขอให้เรียกว่าปาท่องโก๋ต่อไป ส่วนเมื่อเดินทางไปจีนก็เปลี่ยนเป็น “โหยวเดียว” จะได้สื่อสารถูกและไม่พลาดของอร่อยไงล่ะ
ตำนานปาท่องโก๋ ขนมแห่งความแค้น
อันนี้หมายถึงตำนานของปาท่องโก๋ที่คนไทยกินกันทุกวันนี้นะคะ ว่าด้วยขุนนางที่คดโกงในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ชื่อ ฉินฮุ่ย กับภรรยา ขัดแข้งขัดขาแม่ทัพเย่วเฟย หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ งักฮุย ไม่ให้ออกรบ เพราะจะได้รับประโยชน์จากการที่ชาวกิมมารุกราน พร้อมกับใส่ความต่างๆ นานา กระทั่งถูกประหารชีวิต
หลายร้อยปีต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง จึงมีการสร้างศาลเจ้างักฮุยให้ผู้คนได้สักการะในฐานะขุนศึกที่รักชาติและซื่อสัตย์สุจริต แต่เบื้องหน้ารูปเคารพของงักฮุยจะมีรูปปั้นของ ฉินฮุ่ยกับภรรยา ให้คนถ่มน้ำลายใส่เพื่อเหยียดหยาม
หลังจากนั้น ก็มีการทำขนม โดยเอาแป้ง 2 อันมาประกบกัน เพื่อแทนฉินฮุ่ยและภรรยา แล้วลงทอดในน้ำมันร้อน จากนั้นคนจีนจะกินเพื่อระบายความแค้น ปาท่องโก๋ ที่คนไทยรู้จักและเอร็ดอร่อยแบบปากมันแผล่บกันมายาวนาน จึงมีที่มาแปลกๆ เรื่องชื่อ และมีตำนานไว้เล่าเป็นเครื่องเคียงสนุกๆ
ที่มา
แก้วใจ. (2565, กรกฎาคม – กันยายน) . “DID YOU KNOW,” Delight Magazine. 21 (3) : 67