ทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ปังกว่า แล้ว 5 วันยังจำเป็นอยู่ไหม?

0
846
kinyupen

พนักงานหลายคนเริ่มมองหา Work Life Balance โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่ชื่นชอบงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ความต้องการของพนักงานช่างสวนทางกับนายจ้าง เพราะหลายคนยังมีค่านิยมว่าการทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จ และไม่พร้อมที่จะเสี่ยง จะเห็นว่าการเปลี่ยนวิธีการทำงานนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

แต่การทดลองพบว่า ลดเวลาทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ดันได้งานดีกว่าการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ เสียอีก!

ตัดภาพมาที่หลายๆ องค์กรในไทยที่ต้องทำงาน 6 วัน/สัปดาห์… 1 วันที่ได้หยุด แค่ตื่นมาซักผ้าก็หมดวันแล้ว

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะชวนคุยเรื่องการลดเวลาการทำงานกัน ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร เผื่อใครสนใจก็เอาไปปรับใช้กันได้ค่ะ

สุดปัง เมื่อทดลองนโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์

ไอซ์แลนด์ : พนักงานในหน่วยงานปกครองเมืองเรกยาวิค 2,500 คน มี Productivity ของงานยังคงปกติ ไม่ต่างจากตอนทำงาน 5 วัน มีหลายกรณีที่งานดีขึ้นกว่าเดิม

ญี่ปุ่น : Microsoft Japan ประสิทธิภาพของพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 40% และพอลดเวลาการทำงานยังส่งผลให้พนักงานมีอัตราการลาป่วยที่น้อยลงอีกด้วย (เพราะมีเวลาพักฟื้นร่างกายหลังการทำงาน)

ส่วนประเทศอื่นๆ อย่าง ฟินแลนด์, สเปน, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, สกอตแลนด์ ก็มีการพูดถึงและสนับสนุนลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันเช่นกัน หลังจากนี้ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นความก้าวหน้าในประเด็นนี้ต่อไป

หรือการทำงานหนักไม่ได้ทำให้ประสบความสำเร็จเสมอไป?

ทำไมลดเวลางานแล้ว Productivity ถึงดีขึ้น?

มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุเอาไว้ว่ายิ่งเราทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ มากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพก็ยิ่งแย่ลง

เราไม่สามารถทำงานแบบเปี่ยมพลังงานได้นาน 8 ชั่วโมงติดต่อกัน (ใน 1 วัน) อยู่แล้ว คนเรามีช่วง Prime time ของสมอง หรือ ช่วงที่สมองทำงานดีที่สุด มีอย่างมากก็แค่วันละ 4 ชั่วโมง นอกนั้นเราก็เอื่อย เริ่มใช้เวลาหมดไปกับการประชุมที่ยืดยาว

แต่ถ้าเวลาทำงานน้อยลง บีบให้ตัดเรื่องไม่สำคัญทิ้ง บีบให้บริษัทต้องคิดใหม่อีกครั้งว่ากิจกรรมไหนสำคัญจริงๆ กิจกรรมไหนไม่สำคัญ และจัดตารางเวลาให้กระชับขึ้นไม่เสียเวลากับอะไรที่เปล่าประโยชน์

ดังนั้นเวลาที่ไม่จำเป็นและถูกแบ่งไปให้ชีวิตส่วนตัวของคนทำงานมากขึ้น มีเวลาไปดูแลและจัดการปัญหาด้านอื่นในชีวิต เช่น ครอบครัว สังคม สุขภาพ และความสนใจของตัวเอง ทำให้พนักงานมีความสุข เครียดน้อยลง

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุเอาไว้ว่าเมื่อพนักงานมีความสุขจะช่วยให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 13% เพราะพวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะนำปัญหาต่างๆ มาฉุดรั้งประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะว่อกแว่กในการทำงานน้อยลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อก่อนคนเราก็นิยมทำงานกัน 6-7 วันสัปดาห์

อีกสิ่งที่ช่วยสนับสนุนว่าการลดเวลาการทำงานลงจะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ คือโดยเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เราไม่ได้ทำงาน 5 วัน แบบปัจจุบันแต่ทำงานกัน 6 วัน/สัปดาห์ แต่ Henry Ford เจ้าของบริษัทยานยนต์ชื่อก้องโลกอย่าง Ford การริเริ่มลดเวลาการทำงานเหลือ 5 วัน

ผลคือคนทำงานได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีเวลาใช้ชีวิตในแง่มุมอื่นๆ มากขึ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ถึงทุกวันนี้

สรุป

ข้อดีของการลดเวลาการทำงาน

1. ใช้เวลาคุ้มค่า เวลาทำงานน้อยลง บีบให้ตัดเรื่องไม่สำคัญทิ้ง

2. สุขภาพดี อัตราการลาป่วยน้อยลง

3. ชีวิตดีขึ้น เครียดน้อยลง และไม่หมดไฟ พนักงานมีความสุขมากขึ้น

แต่… ข้อเสียของการลดเวลาการทำงาน

สุขพนักงาน สุขบริษัท แต่ลูกค้าไม่ค่อยสุขด้วย

ในด้านของลูกค้า ไม่ได้มีความสุขกับลักษณะการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เท่าไรนัก เพราะทุกวันนี้เรายังเคยชินกับการทำงาน 5 วันกันอยู่ และไม่ใช่ทุกบริษัทจะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เหมือนกันหมด ทำให้เกิดปัญหาในการติดต่องานกันได้ ยิ่งถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งล่าช้า

ขนาดผู้เขียนยังเคยแอบเซ็ง ที่ระบบราชการปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์เลย ฮ่าๆ

แล้วทางผู้อ่านล่ะคะคิดว่าการลดเวลาการทำงานแบบนี้เวิร์คหรือไม่?
แต่สำหรับประเทศไทยเราก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าองค์กรไหนจะหันมาริเริ่มนโยบายการทำงาน 4 วันกันบ้าง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : brandinside.asia

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here