Multitasking ทำหลายอย่างพร้อมกัน ยิ่งพัง

0
608
kinyupen

หลายคนอาจมีบุคลิกแบบ Multitask ซึ่งเป็นที่ต้องการของหลายๆ บริษัท เพราะเป็นบุคลิกที่มีความสามารถครบครัน เรียกว่าจ้างคนเดียว สามารถทำได้ครอบจักรวาล ซึ่งฟังดูแล้ว คน Multitasking เป็น ก็ดูเป็นคนมีความสามารถดี แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรม Multitask แบบนี้ยิ่งทำให้เสียเวลา แถมทำให้สมองของเราพัง วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงจะพาทุกคนมารู้ข้อเสียของ Multitask กัน

 

Multitasking คืออะไร?

Multitasking หรือการทำงานด้วยทักษะและความสามารถหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน แม้จะทำงานในตำแหน่งเดียวก็ตาม อย่างเช่น ถึงคุณจะทำงานเขียน Content แต่ก็สามารถทำ Graphic ร่วมด้วยได้ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ กำลังเป็นเทรนด์ในยุคดิจิทัล

 

Multitasking ทำให้ทำงานช้าลง?

งานวิจัยจากหลายนักวิชาการ ที่ทำการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างคนที่ทำงานแบบ Multitasking กับ คนที่ทำงานแบบ Monotasking (ทำอะไรทีละอย่าง) พบว่าการทำงานแบบ Multitasking นั้น ทำงานช้าลงกว่า 40-50% และงานวิจัยยังบอกอีกว่า คนที่ทำงานแบบ Multitasking จะใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสะสมความเหนื่อยล้าและความเครียดมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลต่ออาการของโรคบางชนิด เช่น โรคซึมเศร้า สมาธิสั้น และภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

จะเกิดอะไรขึ้นกับสมองคนที่ทำงาน Multitasking

นอกจากงานวิจัยจะบอกว่าการทำงานแบบ Multitasking จะส่งผลให้ทำงานช้าลงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณงานให้กับสมองโดยไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือสมองล้ามากขึ้น และเมื่อสมองล้า สิ่งที่ตามมาคือ การตัดสินใจ การคิดเป็นเหตุเป็นผล การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ผลวิจัยยังบอกอีกว่า การทำงานแบบ Multitasking ทำให้สมาธิสั้นลง เพราะว่าสมองต้องสลับสับเปลี่ยนไปโฟกัสงานแต่ละงาน จนทำให้สมองถูกฝึกฝนว่าทำงานสลับไปสลับมานั่นเอง

ร้ายไปกว่าสมองล้าและสมาธิสั้นนั่นก็คือ ทำให้ระดับ IQ ลดลงได้ถึง 15 จุดหรือเทียบเท่ากับการอดนอนทั้งคืน เพราะสมองของคนเราทำงานได้ดีกว่าในขณะที่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานงานเดียว Multitasking ยังมีผลต่อความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ควบคุมการหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึก และการควบคุมอารมณ์ของตนเองอีกด้วย

 

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ควรทำอย่างไร?

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทำงานหลากหลายอย่างแบบ Multitask แล้ว สิ่งที่เราควรจะต้องทำคือ

1. เรียงลำดับความสำคัญของงาน

เมื่อเรามีหลายชิ้นที่ต้องจัดการ แต่งานทุกชิ้นก็ดูจะสำคัญไปซะหมด เพื่อให้งานทุกชิ้นเสร็จและบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็ว เทคนิคคือการแบ่งความสำคัญและความจำเป็น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • งานเร่งรีบ – สำคัญ
  • งานไม่เร่งรีบ – สำคัญ
  • งานเร่งรีบ – ไม่สำคัญ
  • งานไม่เร่งรีบ – ไม่สำคัญ

จัดลำดับความสำคัญของงานแบบนี้ เพื่อให้รู้ว่าเราควรทำงานไหนก่อนหรือหลัง งานจะได้เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ล้มเหลวจากการที่เราให้ความสำคัญผิดลำดับ

 

2. การบริหารเวลา

การบริหารเวลาในการทำงานเป็นส่วนที่สำคัญมาก เราอาจใช้การแบ่งเวลาการทำงานว่าจะทำงานนี้เมื่อไหร่ และให้เสร็จตอนไหนไปเลยก็ได้ โดยประเมินจากความสามารถของตัวเอง

 

3. จัดสรรเวลาพักผ่อน

ไม่มีใครที่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมงจริงๆ จึงควรหาเวลาพักเบรกเพื่อพักสายตาและพักสมอง เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง

 

การใช้ชีวิตแบบ Multitasking ที่เคยคิดว่าจะสะดวก กลับย้อนมาทำร้ายตัวเรา และการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันทำให้ประสิทธิภาพด้อยลง ฉะนั้นจัดลำดับความสำคัญให้ดี และเลือกทำทีละงานให้เต็มที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยประหยัดเวลา ลดความผิดพลาด ลดอาการเหนื่อยล้า ซึ่งจะช่วยนำไปสู่งานที่สมบูรณ์แบบ

 

kinyupen