บริหารช่วงเวลาทำงานคุณภาพที่สุดของวัน ‘Primetime’

0
1251
kinyupen

เคยดูอุลตร้าแมนไหม? ยอดมนุษย์ที่มีเวลาจำกัดแค่ 3 นาที พลังงานจึงจะหมด แต่ช่างเป็น 3 นาทีที่ทรงพลังน่าดู เราเองก็มีช่วงเวลาซูเปอร์ๆ แบบนี้เหมือนกันทุกคน

 

 

ช่วงเวลา Productive ที่สุดของคนเราไม่เท่ากัน บางคนเอื่อยเฉื่อยตอนบ่าย แต่สดใสตอนกลางคืน ชอบทำงานตอนกลางคืน เพราะสมองสร้างสรรค์กว่าเวลาอื่น บางคนชอบตื่นเช้าๆ ประชุมหนักๆ ตอนเช้าได้ จะสามารถตัดสินใจได้ดี ช่วงเวลาคุณภาพที่ทำงานได้เต็มที่ คิดอะไรก็ออก ทำอะไรก็ลื่นนี้แหละ เรียกว่า Primetime”

 

Prime time ของสมอง หรือ ช่วงที่สมองทำงานดีที่สุด มีอย่างมากก็แค่วันละ 4 ชั่วโมง

    • ส่วนใหญ่จะอยู่ตอนเช้า
    • บางคน (ส่วนน้อย) อยู่ตอนกลางคืน

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมาชวนคุณบริหาร 4 ชั่วโมงอันมีค่า เพื่อใช้เวลา Primetime ทำงานให้ดีที่สุด

 

Prime time สำคัญไฉน?

การรู้ว่าเมื่อไรคือเวลาสำคัญ และเราใช้เวลานั้นไปทำอะไรเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเอาเรื่องยากๆ มาคิดในเวลาที่ไม่ใช่เวลาสำคัญ ผลลัพธ์จะออกมาเละตุ้มเป๊ะเสมอ ทั้งที่ต้องเค้นพลังสมองสุดชีวิต แต่กลับเสียเวลาและเหนื่อยเปล่าๆ

ในขณะที่การจัดการงานยากๆ ตอน Prime time จะลื่นไหลและดูง่ายไปหมด

 

4 ช่วงเวลาแห่งการทำงาน

ถ้าสังเกตตัวเองดีๆ แล้วจะรู้ ว่าในแต่ละวันของเรา สมาธิและพลังงานในการทำงานจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วง ของแต่ละคนจะมาไม่ตรงกันนะ ในที่นี้กินอยู่เป็นยกตัวอย่างของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด (ที่มา Mission To The Moon)

 

1. เวลาสำคัญ (Prime time)

โดยทั่วไป Primetime จะมาตอน 5 ชั่วโมงหลังตื่นนอน คือเวลาประมาณ 9 โมงถึงก่อน 11 โมง จะเป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานและสมาธิสูงสุด

 

“ผมจะใช้เวลาช่วงนี้ในการพัฒนาตัวเอง นัดประชุม พูดคุยกับทีมงาน และการตัดสินใจงานที่เป็นเรื่องสำคัญและสลับซับซ้อน”

 

สร้าง To do list … ให้รู้ว่าสิ่งไหนสำคัญที่สุด

list ที่สำคัญที่สุด มีวิธีการดูง่ายๆ คือ

    1. เป็นของที่ไม่อยากทำ
    2. เป็นของที่ทำยาก

 

ให้ทำสิ่งสำคัญก่อนในช่วง Prime time อย่าเอาเวลาที่สมองล้า หรือหมดแรงไปมัวคิดเรื่องยากๆ เลย มันจะกินเวลา และผลลัพธ์ออกมาดูไม่ดี

 

2. เวลากึ่งสำคัญ (Semi prime time)

คือเวลาหลัง 11 โมงถึงบ่ายสองโมง สมาธิจะเริ่มลดแต่พลังงานยังคงเยอะอยู่

“เวลานี้ผมมักใช้คุยกับลูกค้า และติดตามความคืบหน้าของงานแต่ละแผนก หรือเขียนบทความที่ผมอยากเขียน”

 

3. เวลาแรงงาน (Labour time)

หลังบ่ายสองโมงถึงหกโมง จะเป็นช่วงที่พลังงานและสมาธิค่อนข้างต่ำ

“ผมจะใช้เวลาช่วงนี้ในการหาข้อมูลต่างๆ ทั้งจากหนังสือและอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้เวลาในการตอบอีเมลและเซ็นเอกสาร รวมไปถึงงานที่เป็นงานจิปาถะต่าง ๆ ด้วย”

 

4. เวลาพัฒนา (Growing time)

คือเวลากลางคืนหลังสองทุ่ม จะเป็นเวลาที่สมาธิดีแต่พลังงานน้อย

“ผมจะใช้ช่วงเวลานี้ในการทบทวนงานของวันและคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้จัดงานที่สำคัญที่สุดเอามาทำในช่วงเวลาสำคัญของวันรุ่งขึ้น”

 

 

แต่ถ้าคนคนเดียวดันมี Primetime ไม่เคยตรงกันล่ะ เดี๋ยววันนี้มาเช้า พรุ่งนี้มาบ่าย มาค่ำ จะบริหารเวลาอย่างไร?

1. ตื่นนอนและนอนหลับเวลาเดิม ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

 

2. สังเกตตัวเองว่าอาหารที่เรารับประทาน มีผลกับ Primetime อย่างไรบ้าง

เช่น วันนี้กินกาแฟ ทำให้ Primetime เปลี่ยนเป็นตอนดึก, เมื่อบ่ายกินของหวาน ทำให้สมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก

 

3. สังเกตตัวเองว่า Primetime เปลี่ยน เพราะเราทำอะไรลงไป ข้อนี้คล้ายข้อ 2 แต่เป็นการกระทำ ไม่ใช่ของกิน

เช่น ออกกำลังกายตอนเช้า ทำให้แจ่มใส ปลอดโปร่งยามเช้า Primetime จึงเป็นตอนเช้า

 

4. รักษาสุขภาพสม่ำเสมอ

 

 

ใครๆ ก็เป็นยอดมนุษย์สุด Productive ได้ทั้งนั้น ภายใต้เวลา Primetime ไม่เกิน 4 ชั่วโมง เราจึงควรใช้ช่วงพีคนี้ให้ดีที่สุด ทำงานให้เต็มที่ เพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุด

 

 

ที่มา

kinyupen