โรคกลัวตกเทรนด์ ไม่อยากเป็นคนตกกระแส

0
560
kinyupen

เคยไหม? แค่ตกข่าวนิดเดียวก็คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ตามเขาไม่ทัน รู้สึกกลายเป็นคนแปลกแยกทันที มันนอยด์ๆ หงุดหงิดยังไงชอบกล แบบนี้ต้องรีบตามข่าว คอยเช็ก คอยไถโซเชียลมีเดียบ้าง เดี๋ยวตกกระแส

แบบนี้คุณเสี่ยงเป็นโรคกลัวตกเทรนด์แล้วล่ะ…

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตเชิญคุณมาสำรวจตัวเองกันหน่อย ว่าคุณเป็นโรคกลัวตกเทรนด์ (FOMO : Fear of Missing Out) แล้วหรือยัง?

 

FOMO คืออะไร? FOMO ย่อมาจาก Fear Of Missing Out เป็น “การกลัวตกกระแส” เพราะไม่ได้อัปเดตโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม มักเกิดในผู้ที่เสพติดโซเชียลมีเดียอย่างหนัก

 

ซึ่งนอกจากกลัวตกเทรนด์แล้วยังรวมถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างประเด็นในกลุ่มเพื่อนอีกด้วย

 

ส่วนมากมักเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะมันก็ปกตินี่เราจะรู้สึกเฟลกับเรื่องที่เราไม่รู้ แต่อาการ FOMO ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันจะค่อยๆ กัดกินความสุข ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย

 

เช็กอาการโรคกลัวตกกระแส : FOMO (Fear of Missing Out)

1. อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดใจ กระวนกระวาย เมื่อไม่ได้อัปเดตโลกโซเชียลมีเดีย

2. หมดเวลาไปกับการใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 6 ชม.ต่อวัน

3. ติดการใช้งานโซเชียลมีเดียมาก ไถ Facebook Twitter IG ตลอด ต้องเล่นอินเทอร์เน็ต ต้องเช็ก ทุกวัน เกือบจะทุกเวลา

4. กลัวตกกระแส หรือรู้ข่าวช้ากว่าเพื่อนๆ

5. รู้สึกถูกด้อยค่า กังวลใจเมื่อถูกตำหนิบนโซเชียลมีเดีย

6. อารมณ์เสียเวลาไม่ได้ไปเจอแก๊งเพื่อน พร้อมๆ กับคนอื่น

7. มีอาการซึมเศร้าหรือมีความสุขน้อยลง เมื่อโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้ให้ความสนใจคุณเท่าที่ควร

 

ถ้าเช็กแล้วเข้าข่ายอาการนี้เกิน 4 ข้อ คือแย่แล้วล่ะค่ะ..โรคกลัวตกเทรนด์ถามหาคุณอยู่

 

 

อาการเหล่านี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะเป็นมากที่สุดในเหล่าวัยรุ่น โซเชียลมีเดียจึงมีอิทธิพลกับวัยรุ่นพอสมควร เพราะเป็นวัยที่อยากเป็นที่ยอมรับ ต้องการค้นหาตัวเอง และอยากได้รับความสำคัญมากกว่าวัยอื่นๆ

 

ผลสำรวจพบว่า 80% ของที่เข้าข่ายมีอาการ FOMO เป็นคนเอเชีย

แถมผลการสำรวจเมื่อปี 2020 คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมง/วัน กินเวลาชีวิตไปถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว และในจำนวนนี้

  • 64% มีอาการ FOMO เมื่อไม่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้
  • 56 กลัวการตกข่าวหรือกระแสหากไม่ได้เข้ามาอัพเดทบ่อยๆ

 

 

วิธีรับมือกับอาการ FOMO

บำบัดอาการติดโซเชียลด้วยตัวเอง

  • ยอมรับและเปิดใจ ว่าเรามีอาการ FOMO จริงๆ เพื่อเริ่มการบำบัดได้อย่างเต็มที่
  • ปิดเสียง ปิดการแจ้งเตือน ออฟไลน์โซเชียลมีเดียบ้าง
  • จำกัดชั่วโมงการเล่นโทรศัพท์มือถือต่อวัน มาหางานอดิเรกอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนบ้าง เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ วาดรูป งานฝีมือ หรือออกไปหาอะไรอร่อยๆ กินนอกบ้านก็เติมเต็มความสุขของเราได้
  • เลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องอยู่คนเดียว จะได้ไม่เผลอเล่นสมาร์ทโฟน โดยใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวให้มากขึ้น
  • หากจำเป็นต้องอยู่หน้าจอ ให้พักสายตาจากหน้าจอทุก 2 ชั่วโมง ช่วยถนอมสายตาแถมยังลดเสี่ยงกับอาการออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย

 

ทั้งนี้ผู้คนรอบข้างเป็นตัวแปรสำคัญมาก สำหรับคนที่อยากรักษาอาการ FOMO ต้องคอยสังเกต และชวนกันทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟน หรือพากันไปทำกิจกรรม Outdoor กันเสียบ้าง

 

อย่าให้ความสุขของเราขึ้นอยู่กับคนอื่น จงมีความสุขกับสิ่งรอบตัวบ้าง ว่าแล้วก็ปิดคอมฯ ปิดโทรศัพท์ พักใจ พักสายตา แล้วออกไปหาอย่างอื่นทำบ้างดีกว่า

เพราะเรามีความสุขได้แม้ไม่ได้ตามเทรนด์เหมือนใครๆ …

kinyupen