หนทางแห่งความมั่งคั่ง นอกจากการออมและการสร้างเม็ดเงินแล้ว หนึ่งในแนวทางการประหยัดเงิน คือการรู้จักใช้จ่าย แต่ภาพจำของคนส่วนมากเข้าใจว่า คนที่รู้จักใช้เงิน คือคนที่เลือกซื้อของ ”ราคาถูกที่สุด” “คุ้มที่สุด” ให้ความสำคัญกับ ”ราคา” เสียยิ่งกว่าอะไร
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีความตกม้าตายของคนประหยัด ที่ไม่ประหยัดมาฝาก
อาการของคนติดกับดักของถูก โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม
1.ได้ของเยอะเกินจำเป็น เสี่ยงหมดอายุ
สมมุติ มีโปรโมชั่นแชมพูขวดใหญ่ ซื้อ 2 ขวด แถม 1 ขวด แชมพูเป็นสิ่งที่ต้องใช้ประจำ ฟังอย่างไรก็คุ้มค่าเห็นๆ คุณจึงซื้อ
แต่คุณคนเดียว ต้องใช้แชมพูขวดยักษ์ 3 ขวดเชียวหรือ มันจะหมดอายุ เสื่อมสภาพเสียก่อนจะใช้หมดหรือเปล่านะ
วิธีแก้ทาง หาเพื่อนหารค่าของ ได้ใช้ ได้คุ้มทุกคน วินๆ
2.เหมือนโดนบังคับให้ต้องกิน ต้องใช้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากได้ตั้งแต่แรก
สมมุติ มันฝรั่งทอดลดราคา ขายเป็นแพ็ค คุณไม่ได้อยากกินมันฝรั่งทอดด้วยซ้ำ แต่เฉลี่ยแล้วราคาถูกกว่าตั้งครึ่งหนึ่งคุณจึงซื้อ หรือ บางทียากกินแค่ชิ้นเดียว เดี๋ยวนั้น แต่เห็นแก่ราคาที่ยั่วยวนใจเลยซื้อมาทั้งแพ็ค
คุณต้องกินแต่มันฝรั่งทอดประจำจนเบื่อ กินอย่างไม่มีความสุข กินเหมือนถูกบังคับ เพราะเสียดาย กลัวหมดอายุ หรือ ต้องเอาไปแจกเพื่อนฝูงแทน ถ้าไม่นับเรื่องความมีน้ำใจ อย่างไรก็คือ “เสียเงินเปล่าจ้า”
วิธีแก้ทาง บางครั้งทางที่ดี คือ การไม่ซื้อ ถามตัวเอง คุณอยากได้จริงๆ หรือ เพราะสถานการณ์บังคับ
3.กับดักของถูก ซื้อแล้วทิ้ง
Flash Sale 3.3 4.4 ถูกขนาดนี้ หาไม่ได้แล้ว! เหล่าของที่ซื้อมาช่วง SALE ด้วยความสนใจแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะเห็นว่าราคาถูก คุณจึงตัดสินใจซื้อ เอามาลองดูซิ ไม่ชอบก็ทิ้งไป
ด้วยเหตุผลเพราะว่า เราซื้อมาในราคาถูกชนิดที่ว่า แม้สินค้าจะไร้คุณภาพ พังง่ายๆ ไม่ตรงปก หรือไม่มีโอกาสได้ใช้เลย ก็ยังรับได้ ไม่เสียดายเงิน
แล้ว 50% ของสิ่งของที่ซื้อมาช่วง Flash Sale เรามักจะ “ทิ้ง” ถ้าไม่ทิ้ง ก็วนกลับมาที่ข้อ 2 ใหม่ คือ ต้องฝืนกิน ฝืนใช้ ทั้งทีไม่อยากใช้ รู้ตัวอีกที ของก็กองเต็มบ้าน รวมมูลค่านับพัน ไม่ได้ประหยัดอย่างที่คิด
วิธีแก้ทาง ตั้งสติก่อนช้อป! มีความจำเป็นหรือไม่ สำหรับใครที่รักษ์โลก ให้นึกเสมอว่าต้องช่วยกันลดขยะ ยิ่งคุณซื้อของที่ไม่จำเป็นมากเท่าไหร่ คุณก็สร้างขยะมากขึ้นเท่านั้น
4.ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วพัง
ของราคาถูกที่มีคุณภาพมักหายาก เพราะการผลิตต้องมีต้นทุน ถ้าสินค้าราคาถูก ต้นทุนก็ต้องถูก ต้องลดเกรดวัตถุดิบลง ทำให้ความทนทาน อายุการใช้งานสั้นลง
- เสื้อคลุม 50 บาท ซักแล้วยืด ไม่เข้ารูปเหมือนเดิม กับ เสื้อคลุมแบรนด์เนม 500 บาท 2 ปี ก็ยังทรงสวย
- พัดลมมือสอง 200 บาท ใช้ 1 ปีก็พัง กับ พัดลมมือหนึ่ง 800 บาท รับประกันมอเตอร์ 3 ปี แต่ใช้มา 5 ปีแล้ว ยังไม่พัง
- รองเท้า 99 บาท ใส่เดินแล้วปวดนิ้ว ใช้ 2 วัน พื้นขาด กับ ของเท้า 1,500 ใส่สบาย ถูกสรีระ 5 ปี ก็ยังใหม่
เหล่าของราคาถูกที่ซื้อมาไม่นานก็พัง ต้องซื้อซ้ำๆ ไม่ได้ประหยัดแถมเปลืองอีกต่างหาก
ดังนั้น คนที่ใช้แต่ของมียี่ห้อ หรือแบรนด์เนม ไม่ใช่มีนิสัยคนฟุ่มเฟือยเสมอไป และคนที่ซื้อแต่ของราคาถูก ก็ไม่ใช่คนประหยัด
วิธีแก้ทาง คำนึงถึงการใช้งานระยะยาว ดู มีใบรับประกัน ดูรีวิวสินค้า และสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าควรคำนึงถึงความปลอดภัยก่อน
สุดท้ายนี้ กินอยู่เป็นอยากให้ทุกคนอยู่เป็น รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ อย่าคำนึงแต่เรื่องราคา ให้คำนึงถึงคุณภาพ และประโยชน์ใช้สอย ปลายทางของการรู้จักซื้อ คุ้มกว่าซื้อของยิบย่อยที่สูญเปล่า เราก็จะมีเงินเก็บไว้เอาไปทำอะไรที่มีประโยชน์มากกว่านี้ได้อีกเยอะ
บางครั้งวิธีที่ประหยัดที่สุด ไม่ใช่การซื้อของราคาถูก แต่คือการซื้อเฉพาะของที่จำเป็น หรือ ‘ไม่ซื้อ’ ตั้งแต่แรก
เหมือนกับคนที่ตั้งใจจะลดน้ำหนัก แต่กินขนม Low sugar แทน เหมือนจะดี แต่การ ไม่กิน นั่นแหละดีที่สุด