จะฉีดวัคซีนเลย หรือจะรอวัคซีนของเอกชนดี? เรามักได้เห็นข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ลิ่มเลือดบ้าง อัมพาตบ้าง หมดสติ ถึงแก่ชีวิต ทำให้หลายคนพากันกลัววัคซีนโควิด-19 รู้สึกเหมือนจะโดนเอายาพิษฉีดเข้าร่างกายก็ไม่ปาน
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าวัคซีนโควิด-19 ทั้งหลายจาก พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน หรือ Khunphiphat เจ้าของผลงาน 100+ Podcast เผื่อจะคลายความวิตกไปได้บ้าง
วัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดในประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้คือ Sinovac ซึ่งทำมาจากเชื้อตาย และมีประสิทธิภาพอยู่ท้ายๆ ฟังเผินๆ ดูไม่น่าไว้ใจ แต่ก็มีผู้คนออกมาสนับสนุนว่าวัคซีนชนิดนี้ปลอดภัย เช่น ชมพู่-อารยา หมอแล็บแพนด้า และบุคลากรทางการแพทย์ท่านอื่นๆ
วัคซีนเชื้อตาย ไว้ใจได้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีเก่าแก่?
ทำความเข้าใจกันก่อนว่าวัคซีนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร..
หลายร้อยปีที่ผ่านมา วัคซีนแรกเกิดในช่วงไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ระบาด คร่าชีวิตผู้คนในสมัยก่อนอย่างมาก ซึ่งใช้วิธีป้องกันของชาวแอฟริกาคือ เจาะเอาหนองที่เป็นสารพิษของไข้ทรพิษ ไปใส่บทรอยกรีดบนผิวหนังของคนมีสุขภาพดี (เอาเชื้อโรคไปใส่เลย พูดง่ายๆ) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรค ในภายหลังเราเรียกว่าการ “ปลูกฝี”
และตั้งแต่ปี ค.ศ.1776 เป็นต้นมา ก็ได้พัฒนามาเป็นวัคซีน ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกว่าการปลูกฝีมาก วัคซีนในระยะเริ่มแรกเป็นการนำเชื้อมาทำให้ตายหรือการใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์เท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาช่วย
กลับมาที่วัคซีน Sinovac นักวิทยาศาสตร์ก็จะเพาะเชื้อไวรัสตัวนี้ขึ้นมาแล้วก็ฆ่ามันให้หมดเชื้อมันตาย เชื้อตัวนี้ก็จะสิ้นฤทธิ์ แต่จะยังมีหนามโปรตีน มีตัวรหัสของไวรัสอยู่ ก็เอาซากฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเข้าไปซ้อม เข้าไปตรวจจับ เข้าไปเจอเชื้อไวรัสตัวนี้ แล้วก็สร้างรหัสในการป้องกันตัวขึ้นมา
ปกติการผลิตวัคซีนไม่ว่าจะแก้โรคอะไรก็แล้วแต่ ต้องใช้เวลาพัฒนาประมาณ 10 ปี จึงจะได้วัคซีนที่ “ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น โรคแทรกซ้อน การดื้อยา การเร่งให้เกิดเซลล์มะเร็ง ฯลฯ แต่เนื่องจากเป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน ทำให้วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวต้องเร่งพัฒนา ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีด้วยซ้ำ
แต่ด้วย Sinovac ใช้วิธีที่แบบเก่านี้เอง จึงมีความคุ้นเคยในประสิทธิภาพและความปลอดภัยมานาน มี Report อัตราความเสี่ยงจากข้อมูลเก่าๆ และคาดการณ์ผลข้างเคียงได้ดีกว่า แม้ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า แต่ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 100% เหมือนกัน
เมื่อก่อนไม่เห็นต้องเลือกวัคซีนเลย แต่ทำไมตอนนี้ต้องเลือก?
เพราะวัคซีนแต่ละแบรนด์เทคโนโลยีที่ใช้ผลิตต่างกัน
- วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) นําไวรัสโควิด-19 มาเลี้ยงขยายจำนวนมาก ทำให้เชื้อตาย (Sinovac)
- วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส ด้วยระบบ cell culture, yeast, baculovirus เป็นต้น ผสมกับสารกระตุ้นภูมิ แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย (Novavax)
- วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) เอาส่วนที่เป็นรหัสหนามเข้าไปฝากไว้กับไวรัสชนิดอื่น แล้วก็ฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายรู้จัก (Astra Zeneca, johnson and Johnson)
- mRNA (Message RNA) ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถอดรหัสของยีนมาเลย แล้วก็ทำการสังเคราะห์โปรตีนต่างๆ และฉีดเจ้าตัวรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ เข้าไปให้เซลล์ของเรารู้จัก มีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูง (Pfizer และ Moderna)
วัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุด?
ยังไม่มีใครรู้ผลข้างเคียงในระยะยาว แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ได้รับการวิชัยสรุปออกมาว่ามีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ก็เก็บข้อมูลของตัวเอง ต่างสถานที่ ต่างเวลา ในระยะของการระบาดที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการเปรียบเทียบโดยมองจากตัวเลขคงทำได้ยาก แต่การฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกก็จะมีภาพสะท้อนออกมาให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีวัคซีนยี่ห้อไหนที่จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ 100% แต่ที่ทุกยี่ห้อเป็นเหมือนกัน คือ ไม่ให้ไวรัสเล่นงานเราหนัก ลดความเสี่ยงป่วยหนักจนต้องเข้า ICU ลดอัตราการเสียชีวิต
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือร่างกายที่ดี สุขภาพแข็งแรง ซึ่งช่วยในการตอบสนองต่อวัคซีนที่เข้ามาได้ดี ดังนั้นเราก็ต้องดูแลตัวเองเป็นพื้นฐานหลักด้วย ไม่ได้หมายความว่าทำตัวอ่อนแอแล้วหวังว่าหมอจะมาช่วยชีวิตเราได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- คนอ้วนควรฉีดวัคซีนให้ไว! ไขข้อสงสัยทำไมคนอ้วน เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิดสูง
- วัคซีน ควรไปต่อหรือรอ?
- 100+ EP34 : เตรียมพร้อม ก่อนฉีด “วัคซีนโควิด”
วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระของหมอและบุคลากรทางการแพทย์ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างสหรัฐอเมริกา ภูมิคุ้มกันหมู่คือการที่ประชากรฉีดวัคซีนแล้วกว่า 60% เพื่อให้มีระบบภูมิคุ้มกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับไปเป็นปกติ จบวิกฤตนี้อย่างเร็วที่สุด
ขอขอบคุณที่มาจาก
- WHO องค์การอนามัยโลก
- CDC – Centers for Disease Control
- Coronavirus explained
- BMJ
- Medrxiv
- National Geographic