ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเต็มตัว เมื่อหลายคนอายุมากขึ้น ความวิตกกังวลก็เพิ่มขึ้นตาม ยิ่งปีไหนตรงกับปีชงด้วยแล้ว ความเครียดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าทวี แม้การแก้ชงจะช่วยให้จิตใจดีขึ้นแล้ว ในแง่ของความแข็งแรงของร่างกายนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นตัวเลือกที่ดีอีกทางที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ร่างกายรับมือกับโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะตรงกับปีชงหรือไม่ก็ตาม
4 นักษัตร ปีชง 2564
ปีชง 100%
- ปีมะแม (อายุ 42 ปีในปีนี้)
ปีชงร่วม
- ปีมะโรง (อายุ 45 ปีในปีนี้)
- ปีฉลู (อายุ 48 ปีในปีนี้)
- ปีจอ (อายุ 51 ปีในปีนี้)
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมาแชร์สาระดีๆ จากนายแพทย์ธเนศ สินส่งสุข โรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อแก้ชงสุขภาพของวัย 40+ กัน
มะเร็ง: ภัยร้ายที่ห้ามมองข้าม
ไม่ว่าปีนี้จะดวงชงหรือไม่ แต่โรคมะเร็งยังถือเป็นอาการป่วยที่คร่าชีวิตคนเป็นลำดับต้น ๆ เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเลยวัย 40 ปีมาแล้ว หรือมีญาติสายตรงเคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน ควรอย่างยิ่งที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยวิธีการที่จำเพาะกับโรคแตกต่างกันออกไป เช่น
- การเอกซเรย์ปอดเพื่อคัดกรองมะเร็งปอด
- การอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อดูสิ่งผิดปกติหรือมะเร็งของไต ตับ ตับอ่อน รังไข่ มดลูก และต่อมลูกหมาก
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นวิธีคัดกรองที่แม่นยำ และสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- การตรวจคลำทางทวารหนักเพื่อดูลักษณะของต่อมลูกหมาก
- การทำแมมโมแกรม/อัลตราชาวนด์เต้านมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม
- การตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือการตรวจหาเชื้อ HPV (HPV DNA) ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรง
- การตรวจเลือดเพื่อหาค่าบ่งชี้มะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ตับ ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน รังไข่ และเต้านม
- รวมไปถึงการตรวจยีนมะเร็งแบบเฉพาะเจาะจงกับร่างกายส่วนต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
5 โรคขาประจำ พบบ่อยในวัยหลักสี่
นอกจากโรคมะเร็งแล้ว เมื่อเรามีอายุมากขึ้น หากไม่ดูแลร่างกายให้ดี มักถูกจู่โจมโดยโรคร้ายหลายโรค ที่พบบ่อยได้แก่ โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
ซึ่งนอกจากจะมีผลจากพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมส่วนบุคคลก็ถือเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ในตัวโรคแต่ละโรคก็มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หากป่วยเป็นโรคหนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้
วิธีง่าย ๆ ในการสังเกตอาการของท่านว่ามีแนวโน้มหรือความเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายต่าง ๆ ข้างต้นหรือไม่ เช่น
- หากมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวาน
- หากมีอาการตัวบวม ขาบวม ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเป็นฟองมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ ก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคไตได้
- หากมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น ก็มีความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้นจึงไม่ควรมองข้ามอาการต่าง ๆ ของร่างกาย ทางที่ดีที่สุดเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และพึงระลึกเอาไว้ว่า ทุกโรคหากตรวจพบได้เร็ว การรักษาจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีโอกาสหายขาดที่สูงกว่า
เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยแก้ชงได้หลายโรค
แม้อายุที่มากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งด้านเทคโนโลยีการแพทย์ช่วยให้ตรวจโรคได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น นอกเหนือจากโรคที่พบบ่อยแล้วยังมีโรคที่ควรเฝ้าระวังอีกจำนวนมาก และหลายโรคอาจนำไปสู่โรคร้ายอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ทุกวันนี้โลกเรามีการตรวจติดตามสุขภาพของตับด้วยเครื่อง Fibroscan ที่สามารถวินิจฉัยภาวะพังผืดในตับและตับแข็งในระยะเริ่มต้นได้ โดยไม่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ
การตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อันจะนำไปสู่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การสแกนสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็ก (MRI Brain) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain) เพื่อรู้เท่าทันโรคอัลไซเมอร์
รวมถึงการถ่ายภาพจอประสาทตาแบบดิจิทัลด้วยกล้องฟันดัส (Fundus)
การเอกซเรย์ตรวจเส้นเลือดที่ดวงตา (Fluorescein Angiography) เพื่อเฝ้าระวังโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่สร้างเกราะป้องกันโรคต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่แตกต่างกันไปตามช่วงอายุ แม้ความเสี่ยงจะมากขึ้น แต่หากทุกคนดูแลใส่ใจพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำ และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย จะช่วยป้องกันและบรรเทาโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าปีนั้นจะตรงกับปีชงหรือไม่ก็ตาม
นายแพทย์ธเนศ สินส่งสุข, “แก้ชง (เรื่องสุขภาพ) อย่างไรในวัย 40 อัพ,” Delight BY SCG Debenture Club 20 (เมษายน-มิถุนายน 2564): 40-42