ยังคงเป็นที่จับตาของทั่วโลกกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ กำลังเข้มข้นในขณะนี้ เพราะผลการเลือกตั้งว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกย่อมส่งผลกระทบมาถึงประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ล่าสุด ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ในรายงาน Good Morning Asean คลื่น 100.5 อสมท.วิเคราะห์นโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดยเชื่อว่านโยบายที่ไบเดน จะนำมาใช้หลังเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงกลุ่มอาเซียนด้วยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการชูนโยบายเศรษฐกิจ ไบโอเบส อีโคโนมี (Bio besed Economy) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และสภาวะโลกร้อน ที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องหันมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหากต้องการทำการค้ากับตลาดใหญ่อย่างอเมริกา และแน่นอน ผู้ผลิตในระดับต้นทางอย่างเกษตรกรไทยเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
สำหรับประเด็นที่ ดร.อัทธ์ วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจมีเนื้อหลักๆ ได้แก่
- เชื่อว่าหากนายไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ นโยบายหลายอย่างจะถูกปรับเปลี่ยนจากนโยบายของนายทรัมป์ที่เคยใช้แบบชนิด 360 องศา คือตรงกันข้ามทั้งหมด ยกเว้นการชูเรื่องการให้ความสำคัญกับความยิ่งใหญ่ของอเมริกา ที่น่าจะไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือมุ่งเห็นประโยชน์ของประเทศอเมริกามาเป็นอันดับแรก
- ไบเดน ชูนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของอเมริกา โดยจะเน้นเรื่องของ Bio Based Economy ซึ่งใช้หาเสียงมาตลอด เน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับสินค้าที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สินค้าที่แสดงให้เห็นว่ามีขั้นตอนการผลิตที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้รับการส่งเสริม ขณะที่ สินค้าที่ไม่ชัดเจนเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมอาจจะถูกกีดกันการนำเข้าหรืออาจประสบปัญหาเรื่องการนำเข้า
- การที่คะแนนของไบเดนนำลิ่ว แสดงให้เห็นว่าส่วนหนึ่งคนอเมริกันหันมาสนใจเรื่องของสินค้าสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนของอเมริกาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่ แต่หากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอีก ภาคอุตสาหกรรมของไทยก็ต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย
- ที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน แต่หากเป็นไบเดนเชื่อว่าจะมีการเข้ามาสนใจฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจกับอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยมากขึ้น เพื่อทวงคืนตลาดจากจีน แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
- ข้อดีคือการค้าขายของไทยกับอเมริกาอาจจะกลับมาคึกคักกว่าตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แต่ข้อเสียคือเนื่องจากไบเดนเองก็มุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ของอเมริกาเป็นหลัก ดังนั้นอาจจะใช้เรื่องของสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขกีดกันสินค้าจากไทยได้ เช่น อาจจะใช้สิทธิ์ตัดจีเอสพีสินค้าไทย หรือจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ ดังนั้นผู้ส่งออกต้องปรับตัวและเตรียมไว้ล่วงหน้า
- การใช้เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจของไบเดน จึงอาจจะไม่เพียงแต่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม แต่สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปต่างๆ ดังนั้นเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นทางจึงต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าด้วยเช่นกัน
- สหรัฐฯ จะกลับไปเข้าร่วมในความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ “ความตกลงปารีส” หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามถอนตัวไปในปี 2019 ไม่เพียงเท่านั้นอุตสาหกรรม ทั่วโลกที่ทำการค้าขายกับสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญหน้ากับกฎระเบียบที่เข้มงวดและมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาษีคาร์บอนที่มากขึ้น