เจาะเวลาไปหาเรื่อง เรื่องเล่ามื้อเช้า #ตอน1

0
668
kinyupen

อาหารเช้าสำคัญจริงหรือไม่…ใครกำหนด แล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำท่านย้อนตำนานเรื่องนี้ที่เราสรุปมาจาก Podcast100+ : EP5 เรื่องเล่ามื้อเช้า มาฝากกัน รับรองสนุกน่าติดตามอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์โบราณไม่ควรพลาด

เราขอเริ่มต้นตอนที่ 1 ด้วยการพาท่านไปทำความรู้จักกับมื้อเช้าของชาวกรีก โรมัน ซึ่งไม่ใช่แค่กินเพื่ออิ่มเท่านั้น แต่ยังมีความหมาย หรือ นัยซ่อนอยู่ รวมถึงพาไปรู้จักกับอาหารของชาวแกลดิเอเตอร์ด้วย

 

กรีก : มื้อเช้า คือ ความมุ่งมั่น

หากย้อนไปในประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรกรีกโบราณ พบว่า “อาหารเช้า” มีการบันทึกไว้เป็นภาษากรีก โดยมหากวีโฮเมอร์ ผู้เขียนมหากาพย์อีเลียดและโอดิสซีย์ แต่ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษปัจจุบันก็จะอ่านว่า “อาริสตัน” หมายถึงอาหารที่กินหลังพระอาทิตย์ขึ้นไม่นาน

วรรณกรรมโอดิสซีย์ของโฮเมอร์ พรรณนาถึงการเตรียม “อาริสตัน” ว่า “ในแสงสลัวที่เลือนรางของยามเช้ามืด โดยที่หาได้ใส่ใจกับความยากลำบากของการที่ต้องเตรียมอาหารบนลานดินไม้ ฉากนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อเทเลมาคุสซึ่งเป็นลูกของโอดิซีอุสกลับมาถึงบ้าน ซึ่งมีคนเลี้ยงหมูของที่บ้านได้เตรียมอาหารเช้าให้เขากิน โดยที่นำเนื้อจากมื้อเย็นอาหารค่ำเมื่อวานแล้วก็ทานกับไวน์ ขนมปัง”

 

ทั้งนี้จากการจดบันทึกต่างๆ ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า มื้อเช้าของชาวกรีกโบราณส่วนใหญ่เป็นขนมปังที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรซ์ ส่วนอาหารของกลุ่มชนชั้นสูงจะเป็นขนมปังที่ทำมาจากข้าวสาลีที่มีความนุ่มและหอมและรสชาติดีกว่า ส่วนคนยากจน หรือ ชนชั้นทาสจะกินขนมปังที่ทำจากธัญพืชเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ มื้อเช้า ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะออกไปทำงานหนักในแต่ละวันของชาวกรีก โดยมีบันทึกไว้ในตำราของกองทัพหลายเล่ม โดยเฉพาะตำราของ “ซิโนโฟน” หนึ่งในตำราการรบที่สำคัญของกรีก ระบุว่า “ถ้าทหารไม่ได้กินมื้อเช้า การรบก็จะอาจจะทำให้เสียเปรียบและอาจจะแพ้ได้ เขาจะกำหนดไว้เลยว่าทหารหมู่ไหน เหล่าไหน กองไหนจะต้องเตรียมอาหารอะไร กินอะไร และจะต้องกินเมื่อไหร่”

 

มื้อเช้าที่โด่งดังที่สุดของกรีก ก็คือ มื้อเช้าก่อนเข้าทำศึกของ “กษัตริย์ลีโอนีดัส” ที่สั่งให้ทหารเมื่อกินมื้อเช้าให้เสร็จ แล้วนำเสบียงที่เหลือทุกอย่างของกองทัพไปทิ้งให้หมด แล้วจะเข้าไปกินอาหารค่ำพร้อมกันในเมืองหลวงเปอร์เซีย ซึ่งนั่นหมายความว่า “ต้องรบให้ชนะเท่านั้น”

ถ้าจะว่าไป นี่ก็คือวิธีกระตุ้นและปลุกขวัญกำลังใจแบบเดียวกับวิธีทุบหม้อข้าวของสมเด็จพระเจ้าตากสินก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรีตามที่เราทราบกันนั่นเอง !

 

โรมัน : มื้อเช้าที่มั่นคง มั่งคั่ง

ด้วยความมั่นคงมั่งคั่งทางเศรษฐกิจทำให้มื้อเช้าชาวโรมันจึงค่อนข้างอลังการมีทั้งขนมปัง ชีส มะกอก สลัด ถั่ว องุ่นแห้ง นม ไข่ ไวน์ รวมถึงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่เหลือจากอาหารค่ำในวันก่อนหน้านั้น โดยอาหารประเภทนมในสมัยก่อนถือว่าหายาก เพราะไม่สามารถเก็บได้เป็นเวลานานจะต้องรีดแล้วก็กินแบบสดใหม่ จึงมักเป็นอาหารของคนมีฐานะและคนชั้นสูง เช่นเดียวกับไวน์ในมื้อเช้าชาวโรมันจะผสมกับน้ำผึ้ง ไวน์ประเภทนี้ยังถูกใช้เป็นสำหรับงานเฉลิมฉลองโดยอาจผสมเครื่องเทศ เช่น หญ้าฝรั่น อบเชย พริกไทย เพิ่มเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ บันทึกวลีเกี่ยวกับมื้อเช้าของชาวโรมันบทหนึ่งที่ว่า “ลุกขึ้นได้แล้ว เพราะว่าคนอบขนมปังลุกขึ้นขายอาหารเช้าแล้ว พร้อมกับนกร้องเพลงและแสงที่สว่างเจิดจ้าอยู่รอบตัวเรา” นั่นก็ช่วยบ่งชี้การอบขนมปังเพื่อจำหน่ายเป็นมื้อเช้ามีมาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณแล้ว

 

ชนชั้นล่าง หรือ ทาสสมัยโรมัน เขากินอะไรกัน?

อาหารของทาสสมัยโรมันจะเป็นการนำเอาธัญพืชมาต้มแล้วกวนให้สุกคล้ายๆ โจ๊ก นอกจากนี้ยังมีข้าวฟ่างที่เรียกว่า “มีเล็ท” มีความหมายว่า ร้านอาหารสำหรับทาส หรือ อาหารของนักโทษอะไรทำนองนั้น ซึ่งอาหารพวกนี้แหละก็เป็นอาหารของเหล่านักสู้แกลดิเอเตอร์ที่เราคุ้นชื่อคุ้นตาผ่านหน้าจอ

 

จบเรื่องเล่ามื้อเช้าตอนที่ 1 ไว้ก่อนที่อาณาจักรโรมัน ตอนถัดไปจะพาไปรู้จักกับตำนานมื้อเช้าฉบับยุโรปที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนบาป ทำไม เพราะเหตุใด อ่านตอนที่ 2 ได้ที่นี่ และตอนสุดท้ายอะไรคือตัวจุดประกายมื้อเช้าให้กลับมาอีกครั้ง อ่านตอนที่ 3 ได้ที่นี่

 

เกร็ดน่ารู้ : มื้อเช้าชาวอยุธยา

บันทึกของลาลูแบร์เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุ ว่า ไม่มีชนชาติใดสมถะเท่าชาวสยาม ชาวบ้านดื่มแต่น้ำเปล่า อยู่อย่างมีความสุข ด้วยการกินอาหารง่ายๆ เพียงข้าวเปล่ากับปลาแห้ง หรือ ปลาเค็มตัวเล็กๆ อาจมีเครื่องจิ้มบ้าง เพราะปลานั้นมีชุกชุมเหลือเกินจับชั่วโมงหนึ่งก็นำไปกินได้สบายหลายวัน

อาหารเช้าสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามบันทึกจะเป็นการหุงข้าวสารที่มีความเหนียว โรยด้วยปลาป่นเกลือเป็นอาหารโบราณ โดยคนสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ตื่นมาแล้วกินข้าวเช้าเลยเหมือนคนสมัยนี้แต่ชาวกรุงศรีอยุธยาจะกินหลังพระฉันเช้า เพราะต้องทำกับข้าวใส่บาตรก่อนแล้วค่อยกลับมากินข้าว แตกต่างจากชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยนั้น ที่ตื่นมาตอนเช้าก็กินขนมปังโดยมีหลักฐานการค้นพบภาชนะทำขนมปังในหมู่บ้านชาวโปรตุเกสในยุคสมัยของอยุธยาตอนกลางด้วย

 

kinyupen