“จริงหรือมั่ว” ชัวร์หรือไม่? ความเชื่อ…ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด

0
808
kinyupen

 

ตลอดชีวิตของเราคงมีพฤติกรรมหลายๆ อย่าง ที่มีทั้งข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า การรับประทานสิ่งต่างๆ เพื่อสุขภาพที่ดี แต่แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรือเชื่อเสมอไป กินอยู่เป็น 360 องศาของการใช้ชีวิตขอพาไปพิสูจน์ความเชื่อที่แท้จริงเหล่านี้กัน

 

รังสีในไมโครเวฟก่อให้เกิดมะเร็ง

แท้จริงแล้วไมโครเวฟไม่ได้ปล่อย “รังสี” จะมีก็แต่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ คลื่นไมโครเวฟ ซึ่งใช้  “แมกนีตรอน” ในการผลิตคลื่นวิทยุความถี่สูง เมื่อนำอาหารมาอุ่นร้อน คลื่นจะเข้าไปทำให้อนุภาคของน้ำในอาหาร เกิดการสั่นสะเทือนอุณหภูมิของอาหารก็จะเพิ่มสูงขึ้น ตามการตั้งกำลังวัตต์และระยะเวลาในการอุ่น

นอกจากนี้ส่วนของ”เตาไมโครเวฟ”ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกักเก็บคลื่นแม่เหล็กให้อยู่เพียงในเตา ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่ในรุ่นเก่าๆ อาจส่งผลต่อการทำงาน ของโทรทัศน์วิทยุในขณะอุ่นได้ และจากผลวิจัยจาก Scientific American NSW องค์กรต้านมะเร็งในออสเตรเลีย พบว่า คลื่นไมโครเวฟไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง

ข้อควรระวัง : ทุกครั้งก่อนการใช้งานควรตรวจสอบเตาไมโครเวฟ ทั้งภายนอกและภายใน บริเวณฝาเตาปิดสนิท และเลือกใช้ภาชนะที่ทนต่อความร้อนสูงได้ดี ไม่ควรใช้ภาชนะที่ประกอบด้วยโลหะ เพื่อป้องกันประกายไฟที่อาจลุกไหม้ได้

 

ดื่มน้ำเยอะๆ ดีต่อร่างกาย

ในร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบกว่า 70% และในเลือดก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 90 % สมองก็ประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 85 % และในระหว่างวัน ร่างกายก็จะขับน้ำออกมาในรูปแบบของเสีย เช่น เหงื่อปัสสาวะ อุจจาระ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเติมเต็มน้ำเข้าไป เพื่อช่วยให้ร่างกายสมดุล

แต่…คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า อะไรที่มากเกินไป ก็อาจไม่ได้ดีเสมอไป การดื่มน้ำครั้งละมากๆ อาจกลายเป็นภาระของไตให้ทำงานหนัก เพื่อขับน้ำออกให้ร่างกายเกิดความสมดุล รวมไปถึงกระทบต่อชีวิตประจำวัน ที่อาจต้องเสี่ยงต่อการกลั้นปัสสาวะ ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคอื่นๆตามมา

สิ่งที่ควรทำ : ดื่มน้ำในปริมาณที่พอดีและเพียงพอต่อร่างกาย ให้ไม่น้อยกว่าวันละ 2.2 ลิตร หรือประมาณ 9 แก้ว แต่ถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไป คือ ดื่มน้ำ 4 ลิตรภายใน 2 ชั่วโมง อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นควรดื่มในปริมาณที่พอดี

พบข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า  ให้สังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มเกินไป และในระหว่างวัน เราเข้าห้องน้ำน้อยกว่า 3-4 ครั้ง แสดงว่าควรทานน้ำมากขึ้น

 

กินน้ำตาลเทียมไม่ทำให้อ้วน

คนส่วนใหญ่หันมาใช้น้ำตาลเทียม เพื่อทดแทนพลังงาน และความหวานจากน้ำตาลปกติ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงน้ำตาลเทียม มีสารให้ความหวานที่เกิดจากการสังเคราะห์ ด้วยกระบวนการทางเคมี และโครงสร้างทางเคมีของมันจะเปลี่ยนเมื่อได้รับความร้อน

หากร่างกายได้รับสารนี้เข้าไปมากๆ ร่างกายอาจไม่กำจัดสารคงค้างได้หมด จึงมีแนวโน้มที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งตามมาทั้งยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญ และการผลิตฮอร์โมนของร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้ร่างกายอยากของหวานมากขึ้นกลายเป็นยิ่งอ้วนขึ้นกว่าเดิม

ทางเลือกของคนทานหวาน : จึงควรงดหรือหลีกเลี่ยงอาหาร และขนมที่มีรสหวานเกินไป หรือหากรับประทานของหวานก็ควรจะให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเสมอ

 

ถังเช่ารักษาได้สารพัดโรค

คำกล่าวที่ว่า “ถังเช่า  ไวอาก้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย หรือราชาสมุนไพรแห่งจีน” ดูจะเป็นคำพูดที่เชิญชวนให้ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ สรรหามารับประทานกันเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

ซึ่งถือเป็นสมุนไพรหายาก และมีราคาแพง แต่กับพบได้ทั่วไปในโฆษณา และร้านค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสรรพคุณที่อ้างถึงการรักษาโรคหอบหืด การยืดอายุการเสียชีวิตของผู้ป่วย การฟื้นฟูผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ

มีผลวิจัยถึงประโยชน์ในทางการแพทย์อยู่หลายประเภท แต่ในขณะเดียวกันในหลายงานวิจัย ก็ยังมีการทดลองที่ให้ผลตรงกันข้าม เช่น การทดลองใช้ถังเช่าในผู้ป่วยที่มีอายุ 7 -15 ปี ที่มีอาการหอบหืดควบคู่ไปกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาหลอด แต่กลับให้ผลในลักษณะเดียวกัน

ข้อควรระวัง : ถึงแม้จะยังมีอีกหลายการศึกษาที่พบว่าไม่มีข้อสรุปผลที่ชัดเจน แต่การรับประทานถังเช่าเพื่อดูแลสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ควรตรวจสอบแหล่งผลิตแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และความต้องการต่อโรคที่เป็น ก่อนรับประทาน เนื่องจากมีกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานร่วมกับยาบางตัว และก่อให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดช้า หรือระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อการกระตุ้นมาก

 

และนี่คือบางส่วนของความเชื่อด้านสุขภาพที่กินอยู่เป็น 360 องศาของการใช้ชีวิตนำมาแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการใช้งานอะไรก็ตาม ควรขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอดี ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทุกครั้ง “เพราะอะไรที่มากเกิน ก็อาจไม่พอดีกับชีวิตของเราเสมอไป”

 

ขอบคุณที่มาข้อมูล : คอลัมน์ happiness Truth or Myth นิตยสาร happiness

kinyupen