เงิน 10,000 บาท คุณคิดว่าจะดำรงชีวิตใน 1 เดือน ได้หรือไม่? แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรดีให้กินอยู่ให้ได้ภายใน 1 เดือน วันนี้ กินอยู่เป็น พามาดูวิธีใช้จ่ายเงิน 10,000บาท อย่างไรให้เหลือเก็บ
“เงินทองนั้นหายาก” กว่าจะได้เงินมาในแต่ละเดือนนั้น บอกเลยว่าเลือดตาแทบกระเด็น ต้องอดต้องทนสารพัด แต่ถ้าพูดถึงมนุษย์เงินเดือนแล้ว จบปริญญาตรีมาส่วนใหญ่ก็จะสตาร์ทอยู่ 15,000 บาท/เดือน อันนี้ยังพอประทังชีวิตได้อยู่ (ถ้าไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย) แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นคนวัยนิสิต นักศึกษา หรือมนุษย์เงินเดือนที่มีวุฒิ ม.6 ล่ะ กรณีที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยหรือขอเงินจากพ่อแม่ ตกเดือนละประมาณ 10,000 บาท หลายคนคงบอกว่าหมื่นเดียวใช้ชีวิต 1 เดือน จะพอเหรอ? แล้วถ้าบอกว่าจริงๆ แล้ว มันพอล่ะ จะเชื่อไหม? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มาดูกันเลยดีกว่าว่า 10,000 บาท จะใช้ชีวิตอย่างไรให้ได้ 1 เดือน เริ่มต้นจากการลิสล์รายจ่ายประจำเดือนออกมาว่า เดือนนี้มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน ตามนี้เลย
1. ค่าเช่าห้องพัก : กรณีที่เดินทางมาทำงานหรือศึกษาต่อนอกภูมิลำเนา ค่าใช้สำคัญอันดับต้นๆ เลยคือ ค่าที่พัก เช่าห้องพักในแต่ละเดือนมีค่าเช่าตกเฉลี่ย 3,000-5,000 บาท นี่แค่ค่าเช่าเฉยๆ นะ ฉะนั้นหาที่พักดีๆ บางทีไม่จำเป็นต้องเอาหรูหรา หรือถึงขั้นอัพเกรทเป็นคอนโด เพราะค่าใช้จ่ายจะบานปลายขึ้น หรือหากบางคนโชคดี มีที่พักอาศัยคือบ้านของครอบครัวหรืออาศัยบ้านญาติอยู่นั้น ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเลย
2. ค่าน้ำ-ไฟ สาธารณูปโภค : สำหรับคนที่เช่าห้องพักรายเดือน ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าโทรศัพท์ เป็นปัจจัยสำคัญรองลงมาจากค่าเช่าห้องพัก ถ้าใช้ไฟเยอะ ใช้น้ำเยอะ ก็ต้องจ่ายเยอะเหมือนกัน ตกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500-3,000 บาท หากคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำ ราคาก็จะถูกลงมา ขณะเดียวกัน บางคนที่พักอาศัยที่บ้านพักครอบครัวหรือบ้านญาตินั้น ก็ตกลงกันเอาเอง ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟก็ช่วยประหยัดไปได้พอสมควร
3. ค่าอาหาร : 1 เดือนมี 30-31 วัน เรื่องกินก็เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับคนที่เช่าห้องพักแล้วนั้น ลองคำนวนดูว่าสำหรับค่าอาหารแล้วนั้นจะใช้จ่ายวันละกี่บาท ปกติแล้วจะอยู่ที่ 100 บาท/วันสำหรับเมนูอาหารปกติ ถ้า 1 เดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท แต่ถ้าเลือกกินอาหารหรูจากในห้างแล้วล่ะก็ตกวันละประมาณ 200-500 บาท แต่ก็อาจจะไม่ได้รับประทานหรูหราบ่อยทุกวัน ยังไงซะก็บริหารเงินในส่วนนี้ดีๆ ขณะเดียวกัน คนที่อาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติ ก็ตกลงกันเอาเอง บางบ้านพ่อแม่หรือญาติก็จะทำอาหารอยู่แล้วในทุกๆ วัน เราก็อาจจะไม่ต้องใช้จ่ายเงินส่วนนี้มากนัก
4. ค่าเดินทาง : การเดินทางไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยหรือไปทำงานนั้น ไม่ว่าจะเดินทางด้วยวิธีการใด ก็มีค่าใช้จ่ายให้ลำบากใจ ทั้งรถสาธารณะหรือรถส่วนบุคคล กรณีรถสาธารณะ หากเราเลือกนั่งเป็นรถเมล์ ก็มีค่าใช้ตกวันละประมาณ 30-50 บาท/วัน 1 เดือนก็อยู่ที่ประมาณ 1,000-1,200 บาท ขณะเดียวกัน บางคนอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือญาติ ถ้าหากติดรถของพ่อแม่หรือญาติไปรับหรือส่ง ก็ช่วยประหยัดค่าเดินทาไปได้เยอะเลย
5. เงินออม : คนเราต้องรู้จักการออมเงิน เพื่อให้มีเงินใช้ในยามจำเป็น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นต้น ฉะนั้นใน 1 เดือน คุณจะออมเงินสักกี่บาท อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว ถ้ารายจ่ายเยอะก็วันละ 10 บาท หยอดกระปุกทุกวัน ครบ 1 เดือน ได้ 300 บาท ครบ 1 ปี 3,600 บาท แต่ถ้ารายจ่ายอยู่ในระดับพอดี ก็ออมสัก 20-50 บาท/วัน 1 เดือนก็จะได้เงินอยู่ที่ 600-1,500 บาท ครบ 1 ปี 6,000-18,000 บาท หรือถ้าอยากลองสูตรการออมเงินด้วยวิธีอื่นๆ ก็ลองใช้สูตรนี้ได้ เปิดสูตรการออมเงินของมนุษย์เงินเดือน “ออมอย่างไร ให้มีเงินใช้ในยามแก่”
ขณะเดียวกัน คนที่พักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านญาติ ถือว่าค่อนข้างได้้ปรียบเพราะไม่ต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ รายจ่ายสำคัญๆ อาจจะมีรายจ่ายแค่ค่าอาหารนอกสถานที่ ปาร์ตี้สังสรรค์ เป็นต้น ฉะนั้น ก็ควรเก็บเงินออมเอาไว้ ถ้าเก็บได้เดือนละ 2,000-3,000 บาท ก็จะดีเลย ครบ 1 ปี มีเงินมากถึง 24,000-36,000 บาทเลยทีเดียว
6. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ : ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็คือค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจะฟุ่มเฟือย อยากได้ของอันนั้น อันนี้ สำหรับรายจ่ายอย่างเราก็ถ้าพอมีเงินเหลืออยู่นิดนึงก็แบ่งมาสัก 500-1,000 บาท ซื้อของที่อยากได้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า เป็นต้น หรืออาจะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 500-1,000 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องบริหารจัดการเงินของคุณให้ดี เพราะไม่ฉะนั้นคุณก็จะไม่มีเงินพอใช้ทั้งเดือนแน่นอน ถ้าอยากได้ของใหญ่ๆ เช่น สมาร์ทโฟนสักเครื่อง ก็ต้องเก็บหอมรอมริบ หรือหางานพิเศษทำ เพื่อหารายได้เสริม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เปิดสูตรลับสำหรับคนร้อนเงิน! เหลือ 3000 อยู่อย่างไรให้รอดทั้งเดือน
- “หนี้สิน” กำลังใจที่ดีที่สุดในการทำงาน
- ลด-ละ-เลิก พฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ที่ทำให้ไม่เหลือเงินในกระปุกสักบาท
ทั้งนี้ จะบอกว่า 10,000 บาท กับการใช้ชีวิต 1 เดือนนั้น ถ้ารู้จักบริหารจัดการเงินเป็น ยังไงก็ตามก็สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอตลอด 1 เดือนแน่นอน และถ้าวางแผนดีๆ หน่อย คุณอาจจะมีเงินเหลืออีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะบริหารจัดการเงินได้ดีมากน้อยแค่ไหน ถ้ารายได้ไม่พอรายจ่ายก็หางานพาร์ทไทม์ทำเพิ่มเพื่อหารายได้พิเศษ รับรองว่า 1 เดือนคุณจะใช้ชีวิตอยู่รอดอย่างแน่นอน เพียงแค่คุณ “ไม่ฟุ่มเฟือย” หรือ “สิ้นเปลือง” แค่นั้นเอง…นี่คือวิถี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต