กับดักความจน ความเหลื่อมล้ำที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

0
1603
kinyupen

ชาวไทยมักเห็นภาพจำว่าคนจน คือคนที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ขวนขวาย แต่ความยากจนไม่ได้เกิดจากไม่พยายาม สารพัดเรื่องเล่าความสำเร็จของผู้มั่งคั่ง ความคิดแบบเก่าที่เริ่มต้นจากเสื่อผืน หมอนใบ เริ่มจากเด็กล้างจานก็กลายเป็นเถ้าแก่ได้ถ้าขยัน

หากแต่ความเปราะบางทางการเงิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ในขณะที่นายรวยเกิดมา ก็เพียบพร้อมด้วยมรดก แต่เมื่อนายจนเกิดมายังไม่ทันอุแว้ ก็มีหนี้สินกองไว้ให้เสียแล้ว

 

เริ่มตั้งแต่วัยเรียน นายรวยได้เรียนโรงเรียนที่ดี ครูเต็มที่กับการสอน มีสังคมที่ดี จบมาพร้อมกับเพื่อนฝูง มีคอนเนคชั่นมากมาย ในขณะที่นายจนเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แม้ครูจะเป็นครูที่ดีมีคุณภาพเหมือนนายรวย แต่ครูของนายจนจะมีภาระหน้าที่ในโรงเรียนมากกว่า ต้องคุมเด็กเป็นจำนวนมากกว่า ความสะดวกสบายและสื่อการเรียนการสอนที่ด้อยกว่า ทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพเท่า แถมนายจนต้องทำงานหาเงินไปด้วย เรียนไปด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน จะเอาเวลาไหนไปอ่านหนังสือ ยังไม่นับปัจจัยเรื่องสังคมและเพื่อนฝูง

 

การขวนขวายอย่างเดียว ก็ไม่สู้มีครูสอน มือใหม่หัดเล่นกีตาร์ ฝึกจับคอร์ดเอง ยังต้องใช้เวลางมหลายเดือน คนที่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ต้องขยันกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่า

 

เริ่มต้นทำงาน นายจนได้เงินจากค่าจ้าง เหมือนจะดีขึ้น แต่ต้องใช้กับค่ารักษาพยาบาล ใช้หนี้ เลี้ยงดูคนที่บ้าน ไม่เหลือเก็บสักบาท ในขณะที่นายรวยมีประกันสุขภาพ และไม่มีภาระข้างหลัง

 

ลึกไปกว่านั้น งานวิจัยต่างๆ ชี้ชัดว่าอาหารการกินของคนรวยและคนจนให้คุณและโทษต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราอาจจะเห็นคนมีฐานะล้วนมีผิวพรรณที่ดี แข็งแรง แต่ดูอาหารข้างทางนี่สิ สุขลักษณะ โภชนาการ ส่วนผสม กรรมวิธี เป็นไปไม่ได้เลยที่รับประทานต่อเนื่องแล้วจะมีสุขภาพดี ประเด็นคือโดยทั่วไปกลุ่มเปราะบางคงไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพแน่ๆ

ถ้าป่วย ถ้าไม่ได้ทำงาน รายได้หยุดแต่ค่าใช้จ่ายไม่หยุด จึงกลายเป็นติดลบ ถ้าไม่เกิดอาชญากรรม ก็เกิดการก่อหนี้

 

และนายจนที่ติดหนี้นอกระบบก็ไม่ใช่คนโง่..

เขารู้อยู่เต็มอกว่าดอกเบี้ยมหาโหด แต่วันนี้ฉันและครอบครัวต้องรอดก่อน ไม่มีทางเลือกแล้วจริงๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ผู้ตัดสินใจกู้หนี้นอกระบบเพราะเข้าไม่ถึงการกู้กับธนาคาร ไม่มีอะไรไปค้ำประกันเขา บางคนไม่รู้หนังสือ บางคนไม่มีบัตรประชาชนด้วยซ้ำ จึงต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบเพราะกู้ง่ายกว่า

ปัญหาตามมาคือใช้หนี้ให้ตายก็ไม่หมด เงินต้นไม่ลด ส่งแต่ดอกไปยาวๆ จะขอความช่วยเหลือหน่วยงานใดก็ไม่ได้ เพราะมัน “นอกระบบ”

 

ในขณะที่นายรวยมีธนาคารต่างๆ ยินดีเสนอสินเชื่อให้ทันที พร้อมใช้เอาเงินก้อนนั้นไปสร้างตัว ขยายธุรกิจให้โตกว่าเดิมได้เลย

 

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างระดับบน-ล่าง ก่อความไม่เข้าใจกัน มีมุมมองขัดแย้งได้ไม่รู้จบ

คนรวย มองว่าคนจนไม่พยายามขวนขวายเอง

ส่วน คนจน มองว่าคนรวยมีต้นทุนดี คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด

คนรวย มองว่า ได้เงินทำไมไม่รู้จักออม แต่ความจริง คนจน มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันก็เป็นบุญแล้ว

คลิปความเหลื่อมล้ำแบบเข้าใจง่าย โดย นวล 

 

เมื่อคนมีเงินเยอะและคนมีเงินน้อยได้เงินมาก้อนหนึ่ง การตัดสินใจก็ต่างกัน

คนรวย มีทางเลือกมากมายในการตัดสินใจ และเขามักนำเงินนี้ไปต่อยอดให้งอกเงย

คนจน ต้องคิดถึงความเป็นอยู่ตอนนี้ก่อน จึงจะกล้านำเงินนี้ไปทำอะไรสักอย่าง

 

ยิ่งมีเงินน้อย คนจนก็ยิงเกิดการ “ขาดแคลนการตัดสินใจ” มีมุมมองโลกแคบลง โฟกัสตรงหน้า เมื่อโลกแคบลง ก็เสียโอกาสในการเติบโตหลายๆ อย่าง ในขณะที่คนมีเงินเยอะสามารถตัดสินใจได้หลากหลาย และมองไปถึงอนาคตได้เลย ..โหดร้ายไหมล่ะ

 

หลายคนอยากหลุดพ้นจากความจน จนเกิดความ” โลภ” อยากได้ทุนคืนมาเร็วๆ เยอะๆ ง่ายๆ ไม่อยากเหนื่อยอีกแล้ว โดนโกง โดนหลอกกันถ้วยหน้า ทั้งที่ผลตอบแทนที่ได้มาเร็ว เยอะและง่ายไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพมายาหลอกให้แมลงเม่าบินเข้ากองไฟเท่านั้น

 

เมื่อไม่มีหนทางหลุดพ้นจากวิกฤตการเงิน ความจนก็ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ชั่วลูกชั่วหลาน เป็นวงจรอุบาทว์ของความ “โง่-จน-เจ็บ”

 

แต่หากคุณยื่นเงินก้อนหนึ่งให้เขา ไม่นานเขาก็กลับมาจนเหมือนเดิม เพราะขาดความรู้และการบริหารจัดการเงินที่ดี เหมือนตำนาน “สามล้อถูกหวย” ที่ถูกหวยได้รางวัลที่ 1 รับเงิน 6 ล้าน แต่เงินหมดเกลี้ยงบัญชีภายใน 8 เดือน

 

เรื่องการยื่นมือช่วยเหลือคนจนนี้ บางคนอาจมองว่าไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเอาเงินที่อุตส่าห์สร้างมา ไปช่วยคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยด้วย คนทำมากก็ต้องได้มาก คนทำน้อยก็ต้องได้น้อยสิ!!

แต่ความเท่าเทียมไม่ใช่ยุติธรรม หากจะขจัดความเหลื่อมล้ำควรเริ่มที่ไหน.. เริ่มจากปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี สวัสดิการต่างๆ การศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค น้ำที่สะอาด ถนนหนทางที่ดี มีไฟฟ้าเข้าถึง

ซึ่ง ‘พิมรี่พาย’ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แค่ชาวบ้านบนดอยมีไฟฟ้าใช้ ก็สามารถเปิดโลก เปิดโอกาส เพื่อให้เด็กๆ เริ่มมีความฝัน และหมู่บ้านใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน

 

เมื่อโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพมากมาย เชื่อว่าอาชญากรรมคงน้อยลง โศกนาฏกรรมคงไม่เกิดขึ้นให้เราหดหู่ใจอยู่ทุกวัน

kinyupen