ชีวิตยุค AI  เมื่อเทคโนโลยีล้ำขนาด แค่ “เป่า” ก็รู้แล้วว่าเป็นโรค

0
589
kinyupen

ในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีล้ำสมัย มีการคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวดจะทำให้แนวโน้มอายุขัยของมนุษย์ยืนยาวมากขึ้น เผลอ ๆ เราจะมีชีวิตยาวนานเกิน 100 ปีกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ กลับทำให้ทักษะการทำงานของมนุษย์กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น ไม่ต้องฝึกฝน ไม่ต้องเรียนรู้ เพราะเราก็แค่พึ่งพาเทคโนโลยี AI เหมือนกับเครื่องคิดเลขที่ทุกวันนี้แทบจะเข้ามาช่วยเราคำนวณบวกลบคูณหาร โดยไม่ต้องใช้สมอง

อาชีพหลายอย่างถูก Disrupt หนักเข้า รวมไปถึงอาชีพหมอและพยาบาล 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตขอนำข้อสรุปจากงานเสวนาวิชาการ SICMPH 2023 ที่จัดโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่เครือโรงพยาบาลธนบุรี  หรือ THG ไปร่วมบรรยายภายใต้หัวข้อ “AI Disruption in Healthcare Industry” มาถ่ายทอดให้ฟัง

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจหน้าตาของ  AI ก่อนว่าคืออะไร

 AI (Artificial Intelligence) หรือภาษาไทยที่เรียกกันว่า “ปัญญาประดิษฐ์”   คือ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่จะได้ผลเช่นเดียวกับกลไกของสมองของมนุษย์ หากความแม่นยำต้องอาศัยข้อมูลและเวลา เช่นเดียวกับคนที่ต้องอาศัยประสบการณ์

ในงานเสวนา ผู้ร่วมบนเวทีประกอบด้วย ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ดร.ธนัย ชรินทร์สาร Podcaster รายการ Strategy Clinic ของ The Standard และอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ได้พูดถึงการนำ AI มาใช้เพื่อดูแลรักษาสุขภาพ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง  โดยเฉพาะในยุคที่มีข้อบ่งชี้การขาดแคลนของหมอ และพยาบาล ที่จะเริ่มมีมากขึ้นทุกขณะ

ในวงเสวนาวิทยากรทั้ง 3 ท่านให้ข้อคิดที่เหมือนกัน คือ AI ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงการเข้ามาแทนที่ หรือจะมีประสิทธิภาพ ความแม่นยำได้เท่ากับแพทย์ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น AI เสมือนน้องใหม่ ซึ่งต้องการปริมาณข้อมูลและเวลาในการวิเคราะห์ หาก AI จะเข้ามาแบ่งเบาภาระทั้งด้านบริหารจัดการ และการตรวจวิเคราะห์

AI จะเป็นด่านแรกในการคัดกรอง จัดเก็บข้อมูลช่วยทั้งในด้านฝั่งแพทย์  โรงพยาบาลรวมถึงคนไข้ นั่นคือ คนไข้สามารถรู้ข้อมูล มีบันทึกประวัติของตนเองและสามารถดูแลตนเองในข่ายของ  Preventive Healthcare

ส่วนโรงพยาบาลจะช่วยในด้านลดปริมาณหรือกระจายคนไข้ไปยังโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงบริหารจัดการข้อมูล ประวัติคนไข้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงคัดกรองเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล

ขณะที่ฝั่งแพทย์ AI จะช่วยในด้านตรวจวิเคราะห์ ที่จะทำให้กระบวนการรักษาแม่นยำและรวดเร็วขึ้น ย่นระยะเวลา ตลอดจนช่วยในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาซึ่งจะส่งผลไปถึงด้านการวิจัยพัฒนายา เพราะในแต่ละโรคแต่ละบุคคลยาอาจจะมีผลต่อการรักษาที่แตกต่างกัน

สรุปได้ว่า ในขั้นแรก ๆ ที่เรานำ AI เข้ามาใช้ในวงการสาธารณสุข  AI จะถูกใช้ในขั้นตอนตรวจวิเคราะห์ ดูแนวโน้ม ในขณะที่ AI จะยังไม่สามารถทำงานในหน้าที่แพทย์ได้  คนเป็นแพทย์จะยังคงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาพูดคุยกับคนไข้ และเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินการในขั้นกระบวนการรักษา

ในปัจจุบันเทคโนโลยี AI กำลังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในด้านธุรกิจสุขภาพ การดูแลรักษาเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ โดยวงเสวนาพูดถึงเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์มะเร็งที่กำลังพัฒนาอาจไปถึงขั้นเพียงใช้เครื่องเป่า ก็สามารถรู้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และเป็นชนิดใด หรือก่อนที่จะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล จะมีระบบหรือแอพพลิเคชั่นในการตรวจวิเคราะห์ก่อนไปโรงพยาบาล ตลอดจนมีแนวทางการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะคน ที่เป็น Preventive Healthcare

ทั้งหมดนี้ จึงเชื่อได้ว่า การคาดการณ์ว่าอายุขัยของคนในปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ย 77-80 ปี จะยืดออกไปเป็น 100 -120 ปี ก็คงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง

หากทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขการดูแล สุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่ดี การมี DNA ที่ดี 

แต่สิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต คงหนีไม่พ้น คำว่า เงิน

ดังนั้น การมีเงินเก็บ การออมเงินเพื่อไว้ใช้ยามแก่ เป็นสิ่งที่  AI ทำให้ไม่ได้ ยกเว้นตัวเราเอง

เริ่มต้นเก็บเงินให้พอสำหรับการใช้ชีวิตถึงอายุ 100 ปี ไม่เช่นนั้น กินอยู่ ไม่เป็นแน่นอน

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here