นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น กระทรวงการคลัง ได้ยกเว้นให้กองทุนบำนาญต่างๆ ที่มีจุดประสงค์การออมเพื่อการเกษียณอายุ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่วน กลุ่มมาร์เก็ต เมคเกอร์ นั้นไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นผู้ทำหน้าที่เสริมสภาพคล่องให้ตลาด และให้เกิดการกระจายของสภาพคล่องในตลาดหุ้น ซึ่งนักลงทุนที่เป็นรายใหญ่นั้นจะต้องมีการจ่ายภาษีตามปกติ
นายอาคม กล่าววว่า ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในตลาดนั้น เป็นนักลงทุนรายใหญ่ 11% ของจำนวนคนในตลาด และมีนักลงทุนรายย่อย จำนวน 89% อย่างไรก็ดี หากดูในมูลค่านั้น นักลงทุนรายใหญ่ถือครอง 95% ของมูลค่าตลาด ส่วนนักลงทุนรายย่อยครอบครองเพียง 5% มูลค่าตลาด ดังนั้น จึงเชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยมากนัก เพราะมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเพียง 5%
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับต้นทุนหลังจากมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ไทยยังถือว่าจัดเก็บในอัตราเกือบจะต่ำที่สุด ในกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย โดยปีแรก จะทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมที่รวมภาษีขายหุ้นในปี 2566 อยู่ที่ 0.195% และในปี 2567 ที่เก็บภาษีเต็มอัตรา ต้นทุนค่าธรรมเนียมรวมภาษีขายหุ้นอยู่ที่ 0.22% ซึ่งต่ำกว่า ฮ่องกง ที่มีต้นทุนภาษี 0.38% และมาเลเซีย ที่ 0.29% นอกจากนี้ยังใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ที่ต้นทุน 0.20%
“ปัจจุบัน มีการจัดเก็บภาษีหุ้นในโลก 2 รูปแบบ คือ ภาษีจากกำไรในการขายหุ้น หรือ capital gain และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกเพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ยังเว้น ประเทศไทยเองก็เลือกการจัดเก็บภาษีหุ้น เพียงรูปแบบเดียว คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหุ้นเท่านั้น ซึ่งมีความสะดวกสบาย และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะที่จากการศึกษากรณีต่างประเทศ พบว่า ประเทศฝรั่งเศสมีผลกระทบเล็กน้อยในช่วงแรกที่เริ่มเก็บภาษีหุ้น ส่วนอิตาลีไม่ได้รับผลกระทบเลย ทั้งนี้กรณีของไทย ก็มีการเตรียมพร้อมและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน โดยการให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขาย ในการหักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบภาษีอีก
ที่มา : มติชน