หนี้เสีย “เครดิตบูโร” ทะลุ 1.1 ล้านล้าน Gen X,Y กว่า 5 ล้านบัญชีเบี้ยวหนี้

0
547
kinyupen

เครดิตบูโร’ เปิดข้อมูลหนี้รายย่อยไตรมาส 3 พบหนี้เสียทั้งระบบทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท เอ็นพีแอลแตะ 8.5% ขณะที่หนี้ค้างชำระพุ่งต่อเนื่อง ห่วงสินเชื่อบุคคลเบี้ยวหนี้พุ่ง เจนวาย-เจนเอ็กซ์กว่า 5 ล้านบัญชี แนะช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เร่งด่วน

ภายใต้เศรษฐกิจไทย ที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ประชาชน ธุรกิจเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติมากขึ้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่มีความเปราะบาง และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ลูกหนี้บางส่วน ยังมีปัญหาการชำระหนี้ และยังต้องได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

หากดูข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ล่าสุด ยังมีลูกหนี้จำนวนมากที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ โดย ณ 31 ส.ค.2565 มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการทางการเงิน ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมอยู่ที่ 3.88 ล้านบัญชี หรือมียอดสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท และยังมีกลุ่มที่ขอความช่วยเหลือจาก สินเชื่อใหม่ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ที่ 135,805 ราย หรือ 339,036 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมหนี้เสียเฉพาะของระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นไตรมาส 3 ล่าสุดอยู่ที่เพียง 2.77% ขณะที่สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม(stage2)พบว่า อยู่ที่ 6.26% ลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 2.88% และ Stage2 อยู่ที่ 6.09%

หนี้เสียครัวเรือนทั้งระบบทะลุ 1.1 ล้านล้าน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโร เกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทยทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโรทั้งสิ้น 25 ล้านคน แบ่งเป็นหนี้ของเครดิตการ์ด 5.29 แสนล้านบาท หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อรถ 2.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อบ้าน 4.7 ล้านล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการเกษตร 1 ล้านล้านบาท

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)

ส่วนภาพรวมหนี้เสียของทั้งระบบ ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโร ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา หนี้เสียทั้งระบบ ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.4% ซึ่งลดลงหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 8.6% หรือ 1.1 ล้านล้านบาท

ขณะที่หนี้ค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือ SM กลุ่มนี้อยู่ที่ 3.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่เพียง 3% และหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ อยู่ที่ 5.9% หรือ 0.78แสนล้านบาท และหากดูเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และกำลังเป็นหนี้เสีย โดยรวมอยู่ที่ 11.5%

หากดูไส้ในหนี้เสียทั้งหมด จากสินเชื่อครัวเรือน ทั้ง 4 ประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า ที่น่าห่วงที่สุดคือ สินเชื่อรถ และสินเชื่อบุคคล

โดยสินเชื่อรถยนต์ หากดูสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ ในช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1.08 ล้านบัญชี ​โดย 53% เป็นกลุ่มเจนวายที่ได้สินเชื่อ ซึ่งกลุ่มเจนวายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้มากที่สุด และภาพรวมของสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียยังอยู่ระดับสูง ที่ 6.5% ใกล้กับไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อ SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.7%

ทั้งนี้ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุดคือ กลุ่มเจนวาย อายุ 25-42 ปี ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 9.2 หมื่นบัญชี และรวมกับเจนเอ็กซ์ ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 219,315 บัญชี รวมกับหนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระ ทั้งสองกลุ่มอีก เป็นกว่า 3.4 แสนบัญชี ดังนั้นสินเชื่อรถยนต์ ที่มีปัญหาทั้งสองกลุ่มรวมกันมีสูงถึงเกือบ 1 ล้านบัญชี

เจนวาย-เจนเอ็กซ์ หนี้มีปัญหาพุ่ง 5 ล้านบัญชี

ถัดมา คือ สินเชื่อบุคคล 9 เดือนที่ผ่านมา มีบัญชีเปิดใหม่ 5.4 ล้านบัญชี มีสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยกลุ่มฐานราก เกือบ 3 ล้านบัญชี แม้วงเงินไม่สูงมาก ที่ปล่อยให้กลุ่มฐานราก เพียงบัญชีละ 1-2 หมื่นบาท แต่อาจเป็นบัญชีที่เสียมากขึ้นในระยะข้างหน้าได้ เพราะกลุ่มนี้มีความเปราะบางสูง และกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อใหม่มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มเจนวาย ถึง 61% จากบัญชีทั้งหมด

ทั้งนี้ หากดูหนี้เสีย จากสินเชื่อบุคคล หรือพีโลน โดยรวมอยู่ที่ 10.3% และเป็นลูกหนี้ในกลุ่ม SM 2.9% รวมแล้ว ทั้งสองกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ รวมอยู่ที่ 13.2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูง และอาจมีปัญหาชำระหนี้เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าได้

ในนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กลุ่มเจนวาย ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวมีเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เกือบ 3.5 ล้านบัญชีที่เป็นเสียสะสม รวมกับกลุ่มเจนเอ็กซ์ อีก 2 ล้านบัญชี สองกลุ่มนี้มีปัญหาชำระหนี้สูงถึง 5 ล้านบัญชี ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไข กลุ่มนี้อาจมีปัญหาตามมาให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน และต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนสินค้า ต้นทุนขนส่งต่างๆ

ขณะที่สินเชื่อบ้าน มีหนี้เสียที่ 4% หรือ 1.8 แสนล้านบาท และที่กำลังเป็นหนี้ที่กำลังจะเสียอีก 2% ดังนั้นรวมแล้ว กลุ่มที่น่าห่วง มีถึง 6% ที่ผิดนัดชำระหนี้ และที่มีปัญหาชำระหนี้สูงสุดคือ กลุ่มเจนวาย 1.2 แสนบัญชี และเจนเอ็กซ์อีก 1 แสนบัญชี รวมกัน 2.2 แสนบัญชีที่กำลังเป็นหนี้เสีย

 หากดูภาพรวมการปล่อยสินเชื่อใหม่ สำหรับบ้าน 9 เดือนปล่อยไปแล้ว 2.7 แสนบัญชี ที่ได้รับการอนุมัติ ไตรมาสละ 9 หมื่นบัญชี และคาดว่าปีนี้อาจเห็นการอนุมัติเกิน 3 แสนบัญชี เพราะมาตรการแอลทีวี กำลังจะหมด ทำให้คนหันมาเร่งกู้บ้านมากขึ้น ทำให้สินเชื่อบ้านยังเป็นกลุ่มที่เติบโตดี แต่ปีหน้าอาจจะปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เพราะมาตรการจูงใจหมด ส่วนสินเชื่อเครดิตการ์ด มีหนี้เสีย 12.2% และเป็นหนี้ที่กำลังมีปัญหา 1.7% หนี้เสียลดลง เพราะมีมาตรการผ่อนชำระทำให้ผู้กู้สามารถเลี้ยงงวดต่อไปได้

“ที่ห่วงที่สุดคือ พีโลน ภายใต้ดอกเบี้ยสูงที่ 25% เพราะหากคนไม่มีทางเลือก ก็จะต้องมากู้พีโลนอยู่ กลุ่มนี้มีปัญหาชำระหนี้อยู่แล้วเกือบ 3.5 ล้านบัญชี ที่เป็นหนี้เสียสะสม รวมกับเจนเอ็กซ์อีก 2 ล้านบัญชี ทำให้กลุ่มนี้มีลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้กว่า 5 ล้านบัญชี ดังนั้นจะปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเพื่อแก้ปัญหากลุ่มนี้ได้ และยิ่งภาครัฐปล่อยไปอีกล่าสุดให้กลุ่มเปราะบาง 2 ล้านบัญชี คนอาจผ่อนไม่ไหวมากขึ้น ยิ่งอนาคตจะมี bay now pay later ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ที่จะเข้ามาเติมปัญหาหนี้เสียด้วย”

ลูกหนี้รหัส 21 เป็นหนี้เสียในช่วงโควิดพุ่ง

ส่วนลูกหนี้ที่น่าห่วงที่สุด คือ ลูกหนี้ รหัส 21 (เป็นหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19) ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยเฉพาะบุคคลธรรมดา ที่เป็นลูกหนี้กลุ่ม 21 อยู่ที่ จำนวน 3.2 ล้านคน และ 4.7 ล้านบัญชี หรือเป็นมาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน เพิ่มเกือบเท่าตัว จาก เดือนม.ค. ที่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพียง 1.9 ล้านคน หรือหากคิดเป็นมูลค่าหนี้เสีย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีนี้ จากระดับ 2 แสนล้านบาท ในช่วงม.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นหากดูเฉพาะ คนที่เป็นหนี้เสีย จากสถานการณ์โควิด-19 มีสูงถึง 4 แสนล้านบาท เกือบครึ่ง หรือ 40% ของมูลค่าหนี้เสียทั้งระบบที่อยู่ราว 1.1 ล้านล้านบาท

สิ่งเหล่าสะท้อนว่า แม้รายได้คนกลับมา เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมา และมีปัญหาชำระหนี้ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยมาตรการพิเศษ ในการช่วยเหลือกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถกลับเข้ามาอยู่ในระบบการเงิน

ขณะที่นิติบุคคล มีนิติบุคคลที่เป็นหนี้เสีย ถึง 1.1 หมื่นราย เพิ่มขึ้น จากม.ค.ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 5.7 พันราย ดังนั้นตราบใดที่หนี้เสียกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ระยะข้างหน้าอาจต้องเผชิญกับปัญหาการจ้างงานต่างๆ ได้ เพราะนิติบุคคลเหล่านี้ ส่วนหนึ่งประสบปัญหาจากวิกฤติโควิด-19

“อาการลูกหนี้ตอนนี้ เหมือนติดโควิด บางคนก็ลงปอด ไม่มีวัคซีน ดังนั้นระหว่างนี้หากไม่มีวัคซีนเพิ่ม หากไวรัสกลายพันธุ์หรือรุนแรงขึ้น ทั้งจากปัญหาน้ำมันขึ้น ค่าไฟ เงินเฟ้อสูง กลุ่มเหล่านี้อาจประสบปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นได้ ภายใต้การปรับโครงสร้างที่ไม่ได้เร็ว ทั่วถึง ดังนั้นก็ต้องตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ไม่ให้เจอปัญหาในอนาคตได้”

สำหรับภาพรวมหนี้เสียในระยะข้างหน้า เชื่อว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 1.1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเห็นการทยอยเพิ่มขึ้นของหนี้เสียไปสู่ 1.2 ล้านล้านบาท ได้ในระยะอันใกล้นี้ หากว่าการปรับโครงสร้างหนี้ไม่เร็ว ไม่แรง​ ไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน​เนื่องจากการทยอยไหลของหนี้เสียใหม่ๆ ที่เข้ามาเพิ่ม

สวนทางกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากรายงาน และบทความหลายแหล่งที่ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง และยังมีความเปราะบางสูง  ดังนั้น ปัญหาหนี้ อาจจำเป็นที่ต้องมีมาตรการ ช่วยเหลือบางกลุ่มเพิ่มเติม เพื่อลดการเกิดปัญหาหนี้ใหม่ๆ ในอนาคต เช่น กลุ่มรหัส 21 ที่ไม่ได้จงใจเป็นหนี้เสีย แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจากคำนิยาม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here