ในศิลปะกรีกโบราณ ความเปลือยเปล่าของผู้ชาย-ซึ่งรวมถึงอวัยวะเพศ นับเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าภาพเปลือยของผู้หญิงจะมีอะไรปกปิดเสียหน่อยเวลาแสดงในพื้นที่สาธารณะ ค่านิยมที่ยกย่องความงามของเรือนร่างมนุษย์ดำเนินต่อไปในยุคศิลปะโรมันโบราณ เพราะเชื่อว่าภาพเปลือยเป็นสัญลักษณ์ของความผุดผ่อง (purity) จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันรับศาสนาคริสต์ ทัศนคติต่อภาพเปลือยก็เปลี่ยนไป
การเปลือยกลายเป็นเรื่องน่าอับอายถึงขั้นบาป นี่เป็นค่านิยมที่ถูกเพาะเชื้อขึ้นนับตั้งแต่คริสตจักร (นิกายโรมันคาธอลิก) เริ่มมีบทบาทตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Age) เป็นต้นมา คือช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5-15 โดยเริ่มนับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจนถึงจุดเริ่มต้นของสมัยเรเนสซองส์ เป็นช่วงเวลาที่ศริสตจักรแทรกแซงและครอบงำการเมือง การปกครอง จนถึงงานศิลปะ
คริสตจักรต่อต้านเรื่องเปลือยโดยอ้างพระคัมภีร์ปฐมกาล (Genesis) ว่า หลังจากที่อาดัมกับเอวาเพลิดเพลินกับความสุขไร้ยางอายในสวน (เอเดน) พอแอบกินผลไม้แห่งความรู้แล้ว “ตาก็เปิด” เกิดความไม่พอใจในร่างเปลือยของกันและกัน จึงปกปิดด้วยการสร้างเสื้อผ้าชั่วคราวจากใบมะเดื่อ
ใบมะเดื่อ หรือ Fig ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คริสตจักรนำมาใช้ปกปิดบาปและเรื่องเพศ ภาพวาดและงานปั้นตามคติกรีกและโรมันโบราณ ถูกสั่งให้เติมหรือปั้นใบมะเดื่อเอามาแปะไว้ที่อวัยวะเพศของหญิงและชาย
สมเด็จพระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2 (5 ธ.ค. 1444 – 21 ก.พ.1513) เป็นผู้นำคริสตจักรคาทอลิกที่ได้ชื่อว่าทะเลาะกับบรรดาศิลปินยุคนั้นมากที่สุด โดยเริ่มจากการบังคับให้มิเกลันเจโลทาสีปกปิดความเปลือยในผลงาน โดยเฉพาะภาพมาสเตอร์พีช The Last Judgement จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์น้อยซิสทีน ศิลปินคนอื่น ๆ ก็โดน แต่มิเกลันเจโลเจอคนแรก
ยุคของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ต่อมา เริ่มรณรงค์ให้สกัดอวัยวะเพศของรูปปั้นยุคก่อน ซึ่งก็ไม่มีรูปปั้นเก่าไหนที่ไม่เปลือย ส่วนที่ทำใหม่ก็ให้สลักติดใบไม้ติดลงไป เพื่อให้งานศิลปะนั้นมีความเจียมเนื้อเจียมตัวสักหน่อย ยกเว้นรูปปั้นระดับมาสเตอร์พีซให้ใช้ใบมะเดื่อมาปิดแทน
นี่คือจุดเริ่มต้นของยุทธการ Fig Leaf Campaign หนึ่งในการเซ็นเซอร์งานศิลปะที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์
รวมทั้งการปกปิดจู๋ของ “เดวิด” ประติมากรรมหินอ่อนขนาด 5 เมตร หนัก 5 ตัน ที่ถือเป็นจุดสูงสุดในงานศิลปะของมิเกลันเจโล
ตำแหน่งเดิมที่วางรูปปั้นเดวิดซึ่งแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1504 คือ ลานเดลลา ซินเยอเรีย (Piazza della Signoria) ซึ่งเป็นบริเวณพระราชวังเก่า วางอยู่ได้ไม่นานก็มีคำสั่งให้หาอะไรมาปิดของสงวนด่วนที่สุด ทางการเมืองฟลอเรนซ์ก็เลยสั่งให้ตีทองแดงเป็นรูปใบมะเดื่อ ด้านหลังมีตะขอสองอันสำหรับเกาะเกี่ยวเพื่อแขวนปิดจู๋ของเดวิด วิธีนี้สามารถสงบศึกกับศาสนจักรได้ และกลายเป็นต้นแบบที่เอาไปใช้กันต่อ
ยุทธการใบมะเดื่อขยายไปทั่วอิตาลี มีการล่ารูปปั้นเปลือยประหนึ่งการล่าแม่มด บางชิ้นโชคร้ายหน่อย เพราะผู้ดูแลไม่สามารถหาใบมะเดื่อที่ตีด้วยทองแดง ก็ให้ช่างท้องถิ่นทำปูนปลาสเตอร์รูปใบมะเดื่อมาโปะทับ ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่ ช่างท้องถิ่นไม่กล้าแตะต้อง ก็ใช้วิธีเอาผ้ามาแขวนปิดตรงบริเวณที่เป็นจุดต้องห้าม
นอกจากในอิตาลี ยุทธการใบมะเดื่อยังไปไกลถึงอังกฤษ
ในปี ค.ศ.1857 แกรนด์ดุ๊คลีโอโปแห่งแคว้นทัสคานี ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ก๊อปปี้เดวิดเพื่อส่งเป็นของขวัญถวายแด่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (24 พ.ค. 1819 – 22 ม.ค. 1901) เดวิดสำเนาตัวที่ถวายนี้สูงพอ ๆ กับออริจินัล เมื่อบวกฐานที่ตั้งอีก เดวิดที่เดินทางไปอังกฤษก็มีความสูงตระหง่าน ดังนั้น เมื่อสะบัดผ้าคลุมออก เดวิดที่ล่อนจ้อนก็ทำให้พระราชินีทรงตกพระทัยมาก ลองนึกภาพว่าทรงยืนแหงนหน้ามองชายหนุ่มเปลือยที่มีความสูงกว่า 5 เมตร ก็ออกจะเห็นใจพระองค์ท่าน ภายหลังจึงมีการสั่งทำใบมะเดื่อทองแดงที่มีตะขอเพื่อแขวนปิดไว้
กว่า 40 ปีที่ยุทธการใบมะเดื่อเซ็นเซอร์งานศิลปะไปทั่วอิตาลี หลังจากนั้น ศาสนจักรคาทอลิกก็คลายความเข้มงวดเรื่องงานศิลปะกับอวัยวะเพศ จึงมีการแก้ไขเอาใบมะเดื่อออก และซ่อมแซมงานศิลปะที่เสียหายจากการปกปิด
ทุกวันนี้ เดวิดยืนเปลือยเปล่า เด็กเลี้ยงแกะในคัมภีร์ใบเบิลที่ต่อมากลายเป็นกษัตริย์ของชาวยิว งดงามด้วยการสลักเสลากล้ามเนื้อที่ดูแข็งแกร่ง ใบหน้าสงบนิ่ง เป็นชั่วขณะก่อนที่เขาจะออกไปต่อสู้กับยักษ์โกไลแอทจนได้ชัยชนะ
พิพิธภัณฑ์ในอิตาลีและในอังกฤษ ยังเก็บใบมะเดื่อไว้ในตู้โชว์ เพื่อให้ผู้มาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อเข้าใจ มิใช่เพื่อเคืองแค้น
หมายเหตุ: รูปปั้นเดวิดมีอยู่หลายสำเนา เฉพาะในเมืองฟลอเรนซ์เองมีถึง 3 ชิ้น ตัวจริงที่เป็นฝีมือของมิเกลันเจโลอยู่ในห้องแสดงหมายเลข 6 ของพิพิธภัณฑ์อเคเดมี แกลเลอรี่ (Accademia Gallery of Florence) สำเนาที่หนึ่งตั้งอยู่ที่ลานเดลลา ซินเยอเรีย (Piazza della Signoria) ที่ซึ่งเดวิดตัวจริงเคยยืนอยู่ก่อนนับตั้งแต่แกะสลักเสร็จในปี ค.ศ.1504 ส่วนสำเนาที่สองอยู่ที่ลานมิเกลันเจโล (Piazzale Michelangelo) บนเนินเขาเตี้ย ๆ อีกฟากหนึ่งของตัวเมืองฟลอเรนซ์
ภาพจาก
https://medium.com/lessons-from-history/vaticans-fig-leaf-campaign-ac86884b87a9
https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-fig-leaf-story-sin-censorship-catholic-church
บรรยายภาพ
(David-with-FigLeaf)
รูปปั้นเดวิดที่มีใบมะเดื่อปกปิดในช่วง “ยุทธการ”
(The Last Judgment)
The Last Judgment (การตัดสินครั้งสุดท้าย) เป็นจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกขนาดกว้าง 13 เมตรเศษ ประดับผนังในโบสถ์น้อยซิสทีน นครรัฐวาติกัน ผลงานที่ใช้เวลาวาด 4 ปี ของมิเกลันเจโล จิตรกรชาวอิตาลีในสมัยเรอเนซองส์ ผลงานนี้ถูกบังคับให้ระบายสีปิดของสงวนตั้งแต่ยังวาดไม่เสร็จ อีก 60 ปีต่อมา หลังจากภาพนี้แล้วเสร็จ (ปี ค.ศ.1541) จึงมีการแก้ไข เอาสิ่งที่ปกปิดออก
(Adam-and-Eve_Albrecht Dürer)
Adam and Eve ผลงานปี ค.ศ. 1504 โดย อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer) ศิลปินชาวเยอรมัน แสดงให้เห็นการความเชื่อเรื่องใบมะเดื่อในพระคัมภีร์เก่า
(The Expulsion of Adam and Eve)
The Expulsion of Adam and Eve (ขับออกจากสวนอีเดน) จิตรกรรมฝาผนัง โดย มาซาชิโอ จิตรกรอิตาลียุคเรเนสซองส์ เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1423 บนผนังโบสถ์ซานตามาเรียเดลคาร์มิเน เมืองฟลอเรนซ์ ในประเทศอิตาลี ถูกสั่งให้ปิดใบมะเดื่อ และต่อมาได้รับการซ่อมแซม เอาใบมะเดื่อออกเพื่อเคารพต่อเจตนารมณ์ของตัวศิลปิน