ภัยเงียบของคนรุ่นใหม่ โรคหัวใจที่ไร้สัญญาณเตือน

0
693
kinyupen

วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวัน “หัวใจโลก” (World Heart Day) ซึ่งไม่ได้เป็นวันที่ให้ใครมาบอกรักกันนะคะ แต่เป็นวันที่ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของหัวใจ 1 ในอวัยวะสำคัญของร่างกายที่เป็นฟันเฟืองหลักในการทำงานของร่างกายเราค่ะ

โดยถ้าดูจากสถิติเมื่อปี 2564 พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 18,000-20,000 คน หรือชั่วโมงละ 2 คนเลยทีเดียว ซึ่งในบางเคส ไม่มีการบ่งบอกหรือส่งสัญญาณให้ทราบเลย โดยโรคหัวใจหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดหัวใจถือเป็นโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable diseases) คือกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งถือเป็นกลุ่มโรคฮิตของคนไทยเลยทีเดียว วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมา “อ่านให้ เอ๊ะ!” ในเรื่องนี้ไปพร้อมกันค่ะ

พูดถึงโรค NCDs จะประกอบไปด้วย โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูงและโรคอ้วนลงพุง โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรค NCDs ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในปัจจุบันยังมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs มากถึง 14 ล้านคน

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่าในแต่ละปีจะมีผู้ที่เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ทั่วโลกมากกว่า 30 ล้านคน โดยสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคที่มาเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ และรองลงมาคือโรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอด และโรคเบาหวาน ตามลำดับ ดังนั้นวันนี้เราจะหยิบยกความน่าสนใจของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจมาพูดคุยกันค่ะ

โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากผนังหลอดเลือดแข็งตัวขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากมีไขมันอุดตันและเกิดการอักเสบจนเป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ไม่เพียงพอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง คือ การมีไขมันในเลือดสูงซึ่งมาจากอาหาร พันธุกรรม และไม่ออกกำลังกาย

โดยโรคหัวใจที่พบบ่อยในปัจจุบันคือเส้นเลือดหัวใจตีบ พบทั้งผู้ที่มีอาการแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน ในคนไข้ที่มีอาการเรื้อรัง  ทีมแพทย์สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาได้ทันทีหากตรวจพบอาการผิดปกติ แต่สำหรับคนไข้ที่มีอาการแบบเฉียบพลัน  จะมาโรงพยาบาลด้วยเคสฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้วยอาการหมดสติกระทันหันหรือหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน  การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดนี้จะต้องรีบดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง  ด้วยการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงของคนไข้แต่ละคน 

การทำบอลลูน (การสวนเส้นเลือดหัวใจ)

เมื่อพูดถึงการทำบอลลูนหัวใจเรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ในอดีตคนไข้ที่มีอาการฉุกเฉินด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบ มักพบในกลุ่มคนที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงมามากขึ้น เพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป จากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การกิน การนอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโรค NCDs ทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด โรค NCDs  ยังเป็นโรคที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการควบคุมอาหาร ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายที่เหมาะสมและพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีเวลาก็อย่าลืมปรึกษาคุณหมอหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี แค่นี้เราก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มโรค NCDs ได้แล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลเรื่องโรคหัวใจจาก : โรงพยาบาลนวเวช

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here