เป็นธรรมดาที่สังคมเรามักเชิดชูคนขยัน และปลูกฝังให้หยุดขี้เกียจเฉื่อยแฉะหากอยากประสบความสำเร็จ แต่รู้ไหม? ความจริงแล้วเราต้องขี้เกียจต่างหาก ชีวิตถึงจะดี!
ความขี้เกียจควรเป็นพฤติกรรมด้านบวก เพราะมันทำให้คุณจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และช่วยประหยัดพลังงาน
บิล เกตส์ ยังเคยบอกไว้ว่า “เลือกคนขี้เกียจมาทำงานที่ยากที่สุด เพราะคนพวกนี้จะพยายามหาหนทางที่ง่ายที่สุดทำให้งานสำเร็จลุล่วง สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนใหญ่ต่างก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพราะความขี้เกียจทั้งนั้น”
ไม่ได้หมายความว่าให้เราขี้เกียจตลอดเวลานะ แต่เราต้องขี้เกียจอย่างมีประโยชน์ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีวิธีใช้ประโยชน์จากความขี้เกียจเพื่อช่วยให้ทำงานดีขึ้นมาฝาก
5 ประโยชน์ของความขี้เกียจ ที่นายจ้างต้องมองใหม่
1. คนขี้เกียจจะหาทางลัด
เมื่อคนขี้เกียจถูกมอบหมายงาน พวกเขาจะพยายามคิดหาวิธีที่จะสำเร็จให้รวดเร็วที่สุด รวมถึงจะพยายามลดปัญหาให้มากที่สุดด้วย (เพราะขี้เกียจไปแก้)
เช่น ได้รับมอบหมายให้พิมพ์ข้อความตามไฟล์เสียง 30 นาที แต่ขี้เกียจ มันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้สิ จึงใช้การสั่งพิมพ์ด้วยเสียงแทน
ขี้เกียจไล่อ่านเพื่อชื่อคนในเอกสาร จึงกด Ctrl+F หาเจอได้ทันที
รวมไปถึงการใช้เว็บไซต์ตรวจคำ ใช้เทมเพลตนำเสนองานเพื่อประหยัดเวลา
2. ความขี้เกียจช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
พวกเขามักจะค้นพบวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่ยังคงประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้ดังเดิม
ทำงานยากด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด พวกเขาจะใช้ประสิทธิภาพสมองเต็มที่ งัดความสามารถทุกอย่างมาผสมรวมกันให้ทำงานได้ง่ายที่สุดโดยไม่เปลืองแรง
สมมติง่ายๆ เราต้องการเปิดตู้เย็น
ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไปจะไม่คิดอะไรหากวันหนึ่งจะเดินมาเปิดตู้เย็นหลายๆ รอบ แต่กับคนขี้เกียจจะรู้สึกรับไม่ได้ จะวางแผนเสียพลังงานตัวเองให้ที่สุด อาจจะจะหยิบสิ่งที่ต้องการรวดเดียว หรือเลือกเปิดตู้เย็นเฉพาะเมื่อเราจะเดินผ่านบริเวณนั้น
3. ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง มุ่งเน้นงานเต็มที่
คนขี้เกียจจะตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเสียเวลาออกไป (เอาเวลาไปนอนดีกว่า) เน้นแต่เนื้อๆ ส่วนที่สำคัญ ตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป ประชุมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้ช่วยจดต่อกับสิ่งที่ต้องการและไม่เสียเวลาในการทำงานขึ้นเยอะ
นอกจากนี้คนขี้เกียจที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งจะมีสกิล One Night Miracle (1 คืนแห่งปาฏิหาริย์) เมื่อถึงเดดไลน์ เขาจะเค้นความสามารถทั้งหมดที่มี ทำงานแปปเดียวเสร็จทันที ประหยัดเวลาในการทำงานจริงแต่อันนี้อย่าหาทำ เสี่ยงมาก ฮ่าๆ
4. คนขี้เกียจจอมวางแผน
พวกเขาจะคิดก่อนทำ เพื่อให้งานเสร็จเร็วและมีเรื่องให้แก้ไขน้อยที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องงานนอกเสียจากคุณจะวางแผนมาอย่างดี
สมองคนขี้เกียจใช้พลังงานมากกว่าคนส่วนใหญ่ในการตัดสินใจ
ข้อนี้เป็นสิ่งปกติอยู่แล้ว ถ้าเรายอมใช้สมองเยอะๆ จะช่วยให้เหนื่อยน้อยลง แล้วเอาเวลาที่เหลือไปนอนเล่น
ถ้าไปซื้อของ กลัวลืม กลัวเดินเพลิน ก็จดรายการที่ต้องซื้อไว้
ถ้าอยากวาดรูปสวย ถูกต้อง เสร็จเร็ว ก็ร่างดินสอก่อน
ถ้าทำงาน กลัวไฟล์พัง ไฟล์หาย คอมดับ ก็ต้องเซฟ หลายๆ ไฟล์
ถ้าจะถ่ายวิดีโอแต่กลัวพลาด อยากถ่ายเร็วๆ ก็ทำสคริปต์ไว้ก่อน
5. ความขี้เกียจ ช่วยเพิ่มพลัง
การจดจ่ออยู่กับงานมากเกินไป ไม่มีเวลาลุกไปไหนต้องทำให้เสร็จก่อน มีแต่ผลเสีย ก่อให้เกิดความกดดันและความเครียด ทำให้งานเสร็จช้าลงและมีความผิดพลาดมากขึ้น ในขณะที่การพักผ่อน ขี้เกียจสักแปปหนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำงานต่อกลับช่วยให้งานมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีสมาธิกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น
การพยายามเค้น จ่อจองานจะยิ่งทำให้สมองติด คิดอะไรไม่ออก กลับกันการปล่อยวาง ให้ความคิดไหลไปเรื่อยๆ ไปอาบน้ำ ล้างจาน ฯลฯ จะมีโอกาสปิ๊งไอเดียมากๆ
ดังนั้นการหยุดพักไม่ใช่คนขี้เกียจ แต่เป็นสิ่งจำเป็น ลองปล่อยความคิด พักกาย พักใจ แล้วชีวิตจะไหลลื่นยิ่งขึ้นค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- วิธีขี้เกียจให้มีประโยชน์ งานวิจัยชี้ ‘ขี้เกียจ’ แล้วทำงานได้ดีกว่าที่คิด – kinyupen
- 7 วิธีเอาชนะ “ขี้เกียจ” – kinyupen
- 5 สิ่งอย่าหาทำตอน “เครียด” แต่เราก็ชอบทำอยู่ดี – kinyupen
และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าคนขี้เกียจก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ถ้าขี้เกียจให้ฉลาดและเหมาะสม ความขี้เกียจทำให้เรามีเวลาพักผ่อน ดังนั้นถ้าอยากนอนพักสักนิด ดูซีรีส์อีกหน่อยก็ทำเถอะ ถ้ามันทำให้เราลุยงานได้เต็มที่
ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องกดดันให้ตัวเองประสบความสำเร็จอะไรมากมาย คงเป็นหนทางที่เราจะมีสุขภาพกายและจิตที่ดี และนำไปสู่ความพึงพอใจในท้ายที่สุด
กินอยู่เป็นขอขอบคุณที่มาส่วนหนึ่งจาก BBC News ไทย