หากใครปักหมุดไว้แล้วว่า ต่อจากนี้เราควรมีบ้านสักหลังให้ได้ โปรดเตรียมตัวทางการเงินให้พร้อม
แต่ถ้าหากคุณกลัวว่าชีวิตจะขาดความอลังการ การเงินจะไม่มีสีสันและต้องการความตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น บทความนี้ตอบโจทย์คุณแล้ว เพราะพฤติกรรม 8 อย่างที่กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะแนะนำต่อไปนี้ จะทำให้แผนในการซื้อบ้านของคุณพังไม่เป็นท่า สาแก่ใจคุณแน่นอน
5 นิสัยที่ควรทำ ถ้าอยากให้แผนซื้อบ้าน “ล่มจม”
1. ไม่ประเมินกำลังตัวเอง
หากอยากมีบ้านในเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ไม่ระวังเรื่องการประเมินกำลังของตัวเอง ยิ่งถ้ามีหนี้สินอื่นๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ ฯลฯ ความสามารถในการผ่อนบ้านต่อเดือนก็จะลดลง เป็นเหตุให้วงเงินที่สามารถกู้ได้มีจำนวนน้อย หรือทำเรื่องกู้ซื้อบ้านได้ยากขึ้นด้วย
หากคุณอยากให้แผนการซื้อบ้าน “ล้มเหลว” จงสร้างหนี้สินเกิน 40% ของรายได้ เช่น คุณมีเงินเดือน 20,000 บาท ก็ผ่อนบ้านทะลุเพดานไปเลย 50% เป็น 10,000 บาท (20,000 x 50%)
เหลือเงินใช้ต่อเดือนอยู่อีก 10,000 บาท รับรองชีวิตติดไฟอลังการแน่นอน ก็หมื่นเดียวคุณต้องใช้จ่ายประจำวัน ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าเลี้ยงดู ค่าของใช้ครัวเรือน ค่าภาษีสังคม ค่าหน้ากากอนามัย ฯลฯ คงต้องจำกัดจำเขี่ยน่าดู
2. ประวัติเครดิตบูโรไม่ดี
หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และบัตรผ่อนชำระต่าง ๆ หนี้สินของบัตรต่าง ๆ ตรงนี้จะไปแสดงที่เครดิตบูโร ให้คุณลองสร้างประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ไม่ตรงต่อเวลา ผิดนัดจ่ายหนี้ เพราะปัญหาเครดิตตัวเองไม่มั่นคงแบบนี้จะทำให้การกู้ซื้อบ้านเป็นไปได้ยาก
หรือลองเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายเลย เครดิตบูโรก็จะขึ้น Blacklist แบบนี้การกู้ซื้อบ้านยิ่งผ่านยาก เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบทำอะไรง่ายๆ ชีวิตต้องการความท้าทาย
3. ไม่สร้างประวัติการเงินตัวเอง
ไม่จำเป็นต้องสร้างหลักฐานอะไร ก็จริงใจซะอย่าง สำหรับคนทำฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจขายของออนไลน์ การไม่ได้ทำงานประจำและไม่มีเงินเดินในบัญชีแบบสม่ำเสมอ อาจจะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธอนุมัติวงเงินกู้และไม่สามารถกู้บ้านผ่านได้
ตรงกันข้าม ถ้าสร้างการเดินบัญชีทั้งการเอาเงินเข้าและออกหรือสร้าง Statement ก็จะมีประวัติการเงินที่พร้อมสำหรับการยื่นกู้ได้ง่าย
4. มีหนี้ก่อนซื้อบ้าน
ไม่ได้เคลียร์หนี้ที่มีอยู่ให้หมดก่อนที่จะทำการกู้ซื้อบ้าน หนำซ้ำยังมีการผ่อนสินค้าก่อนกู้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะการผ่อนสินค้าระหว่างคิดจะซื้อบ้านถือเป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้คุณสามารถกู้ในวงเงินตามเป้าหมายได้ ทำไงได้ล่ะ ของมันต้องมี!
5. ไม่วางแผนเก็บเงิน หรือคุมค่าใช้จ่ายตัวเอง
นิสัยสำคัญตัวผิดว่ามีเงินเดือนมากแล้วจะผ่อนบ้านได้อย่างสบายๆ แต่เงินเยอะจะไปมีประโยชน์อะไรหากค่าใช้จ่ายดันเยอะตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณอยากซื้อบ้านอย่างยากลำบากเท่าไหร่ คุณก็ควรใช้จ่ายอย่างสบายมากเท่านั้น ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องคิดถึงวันพรุ่งนี้หรือการอดออมอะไรทั้งนั้น ไปตายเอาดาบหน้ากันเถอะ
ดังนั้นหากจากมีบ้านเป็นของตัวเองได้สำเร็จ ควรทำตรงข้ามจากคำแนะนำข้างต้น นอกจากนั้นแล้วควรหาโครงการบ้านในวงเงินที่สามารถกู้ซื้อได้ และเลือกสินเชื่อบ้านที่ดีและเหมาะกับตัวเองที่สุดค่ะ
3 ค่านิยมผิดๆ อาจทำให้ชีวิตการมีบ้านของคุณ พังลงตั้งแต่พึ่งเริ่มต้น
– อายุก็เยอะแล้ว ควรซื้อบ้านได้เสียที
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเท่าไหร่ ถึงจะต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้
อย่าเพิ่งเสี่ยงกับการซื้อบ้านหรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ถ้ารายได้หรือการทำงานยังไม่มั่นคง เป็นพนักงานเอกชนที่ทำงานได้ไม่กี่ปี ยังไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะดาวน์บ้าน ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ควรค่าแก่การเสี่ยงกับหนี้ก้อนโตเลย เพราะลักษณะแบบนี้อาจไม่มั่นคงมากพอให้คุณตัดสินใจซื้อบ้านเสียเท่าไร
– การมีบ้าน คือการประสบความสำเร็จในชีวิต
ผู้คนมักแห่ชื่นชมผู้มีบ้านตั้งแต่อายุยังน้อยว่าประสบความสำเร็จ ก่อเกิดเป็นค่านิยมว่าชีวิตควรจะซื้อบ้านสักหลัก แต่คุณลืมคิดไปหรือเปล่าว่าหนึ่งในปัจจัย 4 ของการใช้ชีวิต ไม่ใช่ “บ้าน” แต่เป็น “ที่อยู่อาศัย” ต่างหาก อย่าใช้มันเป็นข้ออ้างเพื่อสร้าง “หนี้สิน” ทั้งที่ยังไม่พร้อม อาจจะเริ่มเป็นบ้านเช่าก่อนเพื่อจะได้ไม่มีภาระที่หนักในระยะยาว
– บ้าน = ทรัพย์สิน
บ้านไม่ใช่ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความเชื่อแบบเก่าว่าซื้อไว้เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่การซื้อบ้านโดยเอาเงินเดือนจากงานประจำมาผ่อนส่ง ไม่ได้มีรายได้อื่นเลย แทนที่มันจะเป็นทรัพย์สินกลับกลายเป็นหนี้สินเสียเอง
ทรัพย์สิน คือ สิ่งที่ทำเงินให้กับเราทุกเดือน ส่วนหนี้สิน คือ สิ่งที่เราต้องจ่ายทุกเดือน
ทั้งนี้บ้านจะเป็นทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน ขึ้นอยู่กับว่ามีจุดประสงค์อะไรในการซื้อ หากซื้อมาเพื่อการลงทุน เก็บค่าเช่า หรือนำไปขายต่อก็ไม่แปลกอะไร แต่หากซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ก็ต้องประมาณตนให้ดี
ฝึกสร้างนิสัยการใช้เงินให้ดี เพื่อมีบ้านในอนาคต
1. เงินเข้าปุ๊บ ให้หักออมก่อนใช้
เพราะหากใช้เงินก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปเก็บออม ส่วนใหญ่จะไม่เหลือเก็บ เพราะโดยธรรมชาติของคน ยิ่งมีเงินสดอยู่ในตัวมากเท่าไร ยิ่งมีเรื่องต้องใช้จ่ายมากเท่านั้น เช่น กิเลสของตัวเอง เผลอใช้จนลืมเก็บ และการหักดิบเงินตัวเองเอาไปออมทุกเดือนๆ จะช่วยให้เรามีวินัยทางการเงินเพิ่มเงินด้วย อาจเลือกใช้วิธีตัดเงินเดือนเข้าบัญชีเงินออมแบบอัตโนมัติทันที หรือออมทุกวันที่ 1
2. เก็บเงินซื้อบ้านก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน 20%
ประเมินคร่าว ๆ ควรมีเงินเก็บก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้านอย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน พร้อมตั้งเดดไลน์เก็บเงินให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องออมแบบไร้จุดหมาย เช่น นายขยัน มีแผนเก็บเงินซื้อบ้านภายใน 5 ปี โดยบ้านราคาหลังละ 3,000,000 บาท (3,000,000×20% = 600,000 บาท) หมายความว่าใน 5 ปีต่อมา นายขยันต้องมีเงินเก็บมากถึง 600,000 บาทให้ได้เลยทีเดียว ส่วนจะวางแผนเก็บเงินด้วยวิธีไหน ก็มีหลากหลายวิธีมากๆ เลือกใช้ได้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
3. ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายให้เป็นนิสัย
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เคลียร์หนี้สินให้เรียบร้อย ใช้เงินอย่างมีสติ ชอปปิงอย่างพอดี เพื่อให้เรามีกำลังผ่อนบ้านได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวล ซึ่งเราขอแนะนำว่าควรเผื่อเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านอย่างน้อย 25-30% ของเงินเดือน
เพราะไม่ใช่แค่มีเงินดาวน์ครบแล้วจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ ยังมีค่าผ่อนรายเดือน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ไหนจะค่าประกัน ค่านิติบุคคล ค่าส่วนกลาง หรือค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านรอเราอยู่อีก เราต้องฝึกความอดทนแบบนี้ในเวลาอย่างต่ำ 10 ปีแน่นอน