23 คำแปลกในพจนานุกรม พระราชบัณฑิตยสถาน

0
1342
kinyupen

ภาษาไทยนั้นดิ้นได้และเปลี่ยนแปลงไปเสมออยู่แล้วตามยุคสมัย จึงไม่แปลกอะไรถ้าจะมีคำใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ที่แปลกใจคือคำพวกนี้มีบัญญัติในพจนานุกรมด้วยนี่สิ

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีคำศัพท์แปลกๆ จากพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับพระราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2552) มาฝาก

คำแปลกๆ แบบนี้มีอยู่ในพจนานุกรมด้วย !?

กติกู น. กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเองตามใจชอบ (ใช้คู่กับ กติกา)
เช่น กติกูมา กติกาหาย. ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เคารพกติกา มุ่งแต่จะทำตามกติกูบ้านเมืองก็ไม่สงบ.

กติโกง น. กฎระเบียบหรือกฎหมายที่ออกมาเพื่อเปิดทางให้ผู้ออกระเบียบ หรือกฎหมายนั้นสามารถคอร์รัปชั่นได้อย่างถูกกฎหมาย
เช่น เขาออกกติโกงไว้ล่วงหน้า จึงขายหุ้นหมื่นล้านได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาท. (เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2548).

กรอบ ก. จนมาก, ไม่มีเงินเลย
เช่น เปิดเทอมนี้ต้องจ่ายค่าเทอมลูกทั้ง 2 คน สงสัยจะทำเอากรอบไปหลายเดือน.

กระต่ายป่า น. ผู้ชายที่ยังชื่อไร้เดียงสา
เช่น แฟนใหม่ของน้องกระแตท่าทางจะเป็นกระต่ายป่าหน้าใสซื่อเชียว.

กอล์ฟหลุม 19 น. การแอบไปมีเพศสัมพันธ์โดยอ้างว่าไปเล่นกอล์ฟ
เช่น สามีเธอบอกว่าไปเล่นกอล์ฟทุกอาทิตย์ ระวังเขาจะไปเล่นกอล์ฟหลุม 19 นะ. บางทีใช้สั้น ๆ ว่า หลุม 19. (ปรกติกอล์ฟมี 18 หลุม).

กะหล่งก๊ง ก. ซุ่มซ่าม
เช่น เธอนี่กะหล่งก๊งอีกแล้ว ชนข้าวของอยู่เรื่อย ฉันเดินกับเธอแล้วอายคนอื่นจริง ๆ.

กะหลั่ว ก. ห่วย, ไม่ดี
เช่น เธออย่าไปซื้อเสื้อตัวนั้นเลย ดูกะหลั่วเชียว.

ไข่ลูกยอด น. ลูกชายคนเดียวซึ่งเป็นที่รักยิ่งของทุกคนในครอบครัว
เช่น เขามีลูกสาวตั้ง 6 คนแล้ว กว่าจะได้ไข่ลูกยอดคนนี้มา. (มาจาก ไข่ของงูจงอางที่อยู่บนสุดของกอง).

คุณธาดา น. ผู้ชายที่ให้ผู้หญิงหาเลี้ยง
เช่น เขาดูท่าทางน่านับถือ แต่เบื้องหลังเป็นคุณธาดา. (เลียนเสียงมาจาก แมงดา).

เคาะกะลา

1. ก. เรียกคนให้มาทำงานให้โดยใช้เงินหรือผลประโยชน์เข้าล่อ (ใช้ในความหมายดูถูก)
เช่น พอเขาเคาะกะลา พวกหิวเงินก็แห่กันมาหน้าสลอน.

2. ก. ส่งสัญญาณเรียกผู้ที่ต้องการได้ตำแหน่งเข้ามาหาเพื่อให้จ่ายเงินซื้อตำแหน่ง (ใช้ในความหมายดูถูก)
เช่น ตอนนี้ใกล้จะถึงฤดูกาลเคาะกะลาเพื่อเรียกเงินในการยกย้ายแล้ว. (มาจากการเคาะกะลาเรียกสุนัขมากินข้าวในกะลา).

จีบี น. ผู้ที่คอยรับใช้ทุกอย่าง, ผู้ที่ถูกใช้งานอยู่เรื่อยไป
เช่น อยากเป็นพวกจีบีหรือไง ถึงได้ทำทุกอย่างที่เขาใช้เลย. พูดเต็ม ๆ ว่า เจเนอร์รั่ลเบ๊. (มาจากคำว่า อ. general + จ. เบ้).

เจเนอร์รัลเบ๊ น. ผู้ที่คอยรับใช้ทุกอย่าง, ผู้ที่ถูกใช้งานอยู่เรื่อยไป
เช่น ฉันไม่ใช่เจเนอร์รั่ลเบ๊นะ ถึงจะมาใช้ให้ทำได้ทุกอย่าง. พูดย่อ ๆ ว่า จีบี.(มาจาก อ. general + จ. เบ้ ว่า ม้า, ม้าใช้).

ช็อกกะรี น. โสเภณี.

ต่อมเอ๊ะ น. ความรู้สึกสงสัยในสิ่งที่ไม่ปรกติ
เช่น พอฟังข่าวก็เชื่อ ไม่มีต่อมเอ๊ะที่จะสงสัยบ้างเลยเชียวหรือ.

ตายผ่อนส่ง ก. ได้รับอันตรายที่ค่อย ๆ ทำให้เสียชีวิต
เช่น ถ้าคุณยังไม่เลิกสูบบุหรี่ก็เท่ากับตายผ่อนส่ง.

น้องโบ น. หญิงสาวที่แต่งตัวล้าสมัย
เช่น ดูน้องโบคนนั้นซิ สงสัยเอาเสื้อแม่มาใส่ เชยจังเลย. (โบ ตัดมาจากคำว่า โบราณ).

นักวิชาเกิน

1. น. ผู้ที่ชอบทำตัวเหมือนเป็นนักวิชาการ เช่น ถ้านักวิชาการพูดเราควรสนใจ แต่ถ้าเป็นนักวิชาเกินก็ไม่ต้องไปเสียเวลาฟังหรอก.

2. น. นักวิชาการที่ให้ข้อมูลหรือความเห็นที่ไม่เหมาะสมกับสถานภาพของตน เช่น เขาเป็นนักคณิตศาสตร์แต่ชอบทำตัวเป็นนักวิชาเกินด้านเศรษฐศาสตร์.

นั่งยันนอนยัน ก. ยืนยันอย่างแข็งขัน (ใช้คู่กับ ยืนยัน)
เช่น เรื่องนี้จะให้ฉันยืนยันนั่งยันนอนยันที่ไหนเมื่อไรก็ได้.

บริวารเป็นพิษ น. ลูกน้องไม่ดีที่แวดล้อมอยู่ทำให้เจ้านายเดือดร้อนหรือเสื่อมเสีย
เช่น เขาน่าจะเป็นผู้นำที่ดีได้ แต่ต้องกำจัดพวกบริวารเป็นพิษออกไปให้หมด.

ผบทบ. (ผอ-บอ-ทอ-บอ) น. ภรรยา
เช่น วันนี้ ผบทบ. สั่งให้รีบกลับบ้าน. (คำย่อของคำว่า ผู้บัญชาการที่บ้าน).

โมฆบุรุษ

1. น. บุคคลที่ไร้ค่า, บุคคลที่เปล่าประโยชน์ (เป็นคำที่ใช้ในทางพระพุทธศาสนา)
เช่น ภิกษุที่ต้องปาราชิก พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบุคคลที่ไร้ค่า เป็นโมฆบุรุษ

2. น. คนที่หมดคุณค่าความเป็นคน, คนที่เลวราวกับไม่ใช่คน
เช่น คนที่โกงชาติและทำให้สังคมปั่นป่วนได้ถึงขนาดนี้เป็นโมฆบุรุษ (เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ.2551).

เลวบริสุทธิ์ ก. เลวที่สุด, ไม่มีความดีเลย
เช่น ไอ้คนนี้มันเลวบริสุทธิ์จริง ๆ ถึงจะถูกลงโทษประหารชีวิตก็ยังไม่สาสม.

สำนักข่าวโมเมอึ น. แหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
เช่น ข่าวนี้ไม่น่าเชื่อถือเลย สงสัยจะมาจากสำนักข่าวโมเมอึ.

แถม 20 คำเขียนถูกแต่ขัดใจคนใช้

นี่ไม่ใช่ภาษาสก๊อย แต่เป็นคำที่บัญญัติแล้วในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับพระราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2552)

– ก๊อล์ฟ
– ค็อนเหวิร์ส (ยี่ห้อ)
– ค็อมเม้นต์
– ค็อฟฟี่ฉ๊อป
– แช็ต (chat)
– เซ้ฟ (save)
– ดิ๊สโก้
– เถ็ก (สถานบันเทิง)
– เท้กโอเว่อร์
– ธัมบ์ไดร๊ฟ์
– โนติ๊ส (notice)
– บุ๊ฟเฟ่ต์
– บู๊ธ
– พ้าสต้า
– เพอร์เฝ็กต์
– แฟนขลับ
– แฟล็ชได๊ร์ฟ
– รีโหมต
– วันพี้ซ
– แอร์โฮ้สเตส

ดูเพิ่มเติมที่ พจนานุกรมคำใหม่เล่ม ๒

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้เป็นเพียงอดีต ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวได้ปรับแก้ไขให้เหมาะกับการใช้งานแล้ว ซึ่งปรากฏในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 พ.ศ.2557

ตัวอย่างคำศัพท์ ดังนี้

กอล์ฟ, คอมเมนต์, คอฟฟีช็อป, เทสต์, พาร์ตไทม์, บุฟเฟต์, เวิร์กช็อป

สามารถตรวจสอบคำอื่นๆ ได้ทางเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา คลิก ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา (orst.go.th)

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here