มันจบแล้ว Kub เพราะ ก.ล.ต. มีการเปิดเผยว่า CTO ของบริษัท Bitkub มีเอี่ยวเรื่องใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในซื้อขายโทเคน Bitkub Coin ก่อนเกิดดีลกับ SCB พร้อมสั่งลงโทษทันที
ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรายนายสำเร็จ วจนะเสถียร (นายสำเร็จ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามสภาพการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือเรียกว่า Bitkub Exchange ตามที่ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ได้แจ้งสารสนเทศผ่านระบบข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.53 น. ว่า บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด จะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BCGH) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของบริษัท BO ส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจและคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน
เหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาเหรียญ KUB ที่เสนอขายโดยบริษัท BBT ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทบิทคับและมีความเกี่ยวพันกัน อันเป็นข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัท BBT โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ราคาซื้อขายเหรียญ KUB ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ โดยราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จาก 49.53 บาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลซื้อขายเหรียญ KUB โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับเหตุการณ์ตามสารสนเทศดังกล่าว ผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต.
พบว่า กลุ่มธนาคาร SCB และบริษัท BCGH ได้เริ่มเจรจาการซื้อขายหุ้นของบริษัท BO ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และในระหว่างวันที่ 4 กันยายน – 2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว นายสำเร็จ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท BBT ได้มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 บาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายในดังกล่าว
การกระทำของนายสำเร็จเป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสำเร็จ โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท รวมทั้งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานทั้ง 2 แห่งที่ได้มีการหารือแนวทางการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
อย่างไรก็ตามหลังมีประกาศออกสู่สาธารณะราคาเหรียญ KUB ได้ร่วงลงเล็กน้อยเกือบแตะระดับราคา 51 บาท