สศช.เผยไตรมาส 2 ของปีนี้ คนไทยว่างงานลดลง เหลือ 5.5 แสนคน ต่ำสุดตั้งแต่โควิดระบาด อย่างไรก็ตามต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อ-ขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียกันรัฐเล็งปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ-ออกมาตรการลดค่าไฟ บรรเทาค่าครองชีพ
โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ของปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงมา ทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคน ในไตรมาส 2 ของปี 2564 เหลือ 2.2 ล้านคน ในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
แต่เนื่องด้วยสถานการณ์เรื่องเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงยังลดลงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานการศึกษาไม่สูง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากการหารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะชะลอลงในระยะถัดไป
“ในช่วงนี้รัฐบาลก็จะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องบรรเทาภาระให้ เช่น การลดค่าไฟ ซึ่งจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเร็ว ๆ นี้ ส่วนมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ เช่น คนละครึ่ง ก็ได้ออกไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างแรงงานยังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำด้วย”