สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเงินสกุลคริปโตเคอร์เรนซี่ ได้รับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือ ถูกลดความนิยมลงอย่างรุนแรง ตามสภาวะเศรษฐกิจที่รับแรงกระแทกจากโควิด-19 ผนวกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ทำให้ภาวะการลงทุน การเงินโลกตกต่ำอย่างหนัก สินทรัพย์อย่างน้ำมัน ทองคำ พุ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน สินทรัพย์ดิจิทัล เหรียญคริปโต ร่วงอย่างหนัก จนเริ่มเกิดข่าวการล่มสลายของสินทรัพย์ดิจิทัลหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ LUNA หรือสเตเบิลคอยน์ TerraUSD รวมถึงราคาที่ปรับลดลงอย่างหนักของบิทคอยน์ จากที่สูงเกือบแตะ 60,000 ดอลล์ เหลือแค่ 20,000 ดอลล์ในขณะนี้
เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คริปโตเจออุปสรรค ไปต่อไม่ไหว??
ในเมืองไทยเอง ก็เช่นกัน เกิดเหตุการณ์ที่เขย่าวงการคริปโตถึง 2 ครั้งภายในเวลาไม่กี่เดือน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาชวนคุยถึงประเด็นนี้กันค่ะ
สด ๆ ร้อน ๆ ที่ บิทคับ
ย้อนรอยดีล ออฟ เดอะ เยียร์ ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับบิทคับ เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเอสซีบี เอ็กซ์ ยานแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) ประกาศแผนการเข้าลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย โดยทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระบุว่า บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ จะเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 51% ของบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็นมูลค่า 17,850 ล้านบาท
ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนั้น หนุ่มท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า บิทคัทมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพอีกต่อไป แต่บิทคับก้าวไปสู่ระดับโลก เพราะเมื่อพิจารณาจากมูลค่าซื้อของไทยพาณิชย์ที่ 51% จำนวนเงิน 17,850 ล้านบาท เท่ากับว่า บิทคับมีมูลค่าบริษัททั้งหมดที่ 35,000 ล้านบาท ยกระดับขึ้นเป็น “ยูนิคอร์น”
บริษัทของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ
ผ่านไป 1 ปีกับอีก 9 เดือน เหตุการณ์พลิกผัน เจอสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะตลาดคริปโตทั่วโลกที่ร่วงเอาร่วงเอา จนซวดเซไปตาม ๆ กัน เป็นเหตุให้ดีลอภิแห่งปีถึงกาลอวสาน วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยกเลิกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
โดยระบุเหตุผลแบบอ้อม ๆ ว่า การสอบทานธุรกิจไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจากบิทคับมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีความไม่แน่นอนเรื่องระยะเวลาในการหาสรุป ผู้ซื้อและผู้ขายจึงตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมซื้อขายหุ้นครั้งนี้
แปลกเนอะ ตอนตกลงกันไม่ยักมีชื่อ ก.ล.ต.เกี่ยวข้อง แต่พอเลิกดีล ไหง..มีประเด็นค้างกับ ก.ล.ต.!!
การล้มเลิกดีลยักษ์ในครั้งนี้ ส่งผลทันที คือ หุ้นไทยพาณิชย์กระเด้งบวกแรงทันที ในทางตรงกันข้าม เหรียญ KUB ของบิทคับ ก็ร่วงลงอย่างหนัก ตอบรับกับสภาวะ “ยูนิคอร์น” สมญานามของสตาร์ทอัพที่มีสถานะเงินลงทุนเกินระดับ 30,000 ล้านบาท ของบิทคับ มลายหายไป
หมาด ๆ กับ ซิปเม็กซ์
ย้อนเวลาไปอีกนิด คือ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์เขย่าตลาดคริปโตเมืองไทย เมื่อบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและสกุลคริปโตเคอร์เรนซี่ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า จากความผันผวนของตลาด อันเกิดจากการล่มสลายของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญ LUNA ที่ราคาร่วงจนติดพื้น หามูลค่าแทบไม่ได้ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี่ ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจ ซิปเม็กซ์จึงตัดสินใจประกาศระงับการถอนเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม
ถามว่า ซิปเม็กซ์คือใคร
ซิปเม็กซ์ก่อตั้งเมื่อปี 2561 มีสถานะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระดับชาติ เนื่องจากมีการทำธุรกิจใน 4 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เกิดจากการร่วมทุนของนายมาคัส ลิม นักธุรกิจขาวสิงคโปร์ กับ ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย)
ซิปเม็กซ์จัดว่า เป็นดาวรุ่งของวงการคริปโต สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 สามารถระดมทุนได้กว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Jump Capital กองทุนสัญชาติอเมริกัน แม้กระทั่งในเมืองไทย บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ได้เข้าลงทุนถือหุ้นในซิปเม็กซ์ด้วยเช่นกัน
จากเหตุการณ์ระงับการถอนเงินของซิปเม็กซ์ในครั้งนี้ มีนักลงทุนกว่า 700 รายที่ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาทที่รวมตัวกันเรียกร้องค่าเสียหายจากซิปเม็กซ์ จนทำให้สำนักงานก.ล.ต.ต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา
เหตุที่เกิดขึ้นกับซิปเม็กซ์ และบิทคับ เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้า รู้แต่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมคริปโต หรือสินทรัพย์ดิจิทัลของเมืองไทย จากที่เคยสดใส น่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนคนรุ่นใหม่ให้ถาโถมเข้ามาลงทุน
ซึ่งจากตัวเลขของซิปเม็กซ์ระบุว่า จากนักลงทุนใน 4 ประเทศที่มีรวมกว่า 100,000 ราย เป็นนักลงทุนคนไทย ถึง 70% หรือจำนวน 61,000 ราย หากรวมถึงบิทคับ ที่มีนักลงทุนไทยเกือบ 100% คงมีคนไทยสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างต่ำเกินแสนรายแน่นอน