ชำระหนี้ กยศ. “หน้าที่” หรือ “เท่าเทียม”

0
741
kinyupen

กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมาทันที หลังเกิดปรากฏการณ์เทรนด์ทวิตเตอร์ #ล้างหนี้กยศ หลังจากมีแคมเปญล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายให้ยกเลิกหนี้ กยศ.ที่คงค้างทั้งหมด

โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนมองว่า การล้างหนี้ กยศ.และให้เรียนฟรีตลอดชีพนั้นเป็นข้อเสนอเพื่อคน 99% แต่จากการสำรวจความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ผู้คนส่วนใหญ่ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งมองว่าการเป็นหนี้ เราควรก็ต้องใช้และรับผิดชอบเพื่อให้เงินส่วนนี้เกิดการหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้ใช้กันต่อไป กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตชวนทุกคนมาดูความคิดเห็นจากโลกออนไลน์ ทั้งจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยและจากฝั่งที่เห็นด้วยกันค่ะ

ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย

ฝั่งที่เห็นด้วย

เท่าเทียม ≠ ยุติธรรม

คำว่า “เท่าเทียม” กับ “ความยุติธรรม” นั้น มีความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้เขียนมองว่าแม้การล้างหนี้ให้ผู้กู้ กยศ. จะช่วยเรื่องความเท่าเทียมด้านการศึกษาได้ แต่จะไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ชำระหนี้ครบแล้ว หรือน้องๆ รุ่นหลังที่กำลังรอคอยโอกาสทางการศึกษาอยู่ เพราะหาก กยศ. ยกเลิกหนี้จำนวน 337,857 ล้านบาทจริงๆ จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปด้วย

หากเราโฟกัสที่ประเด็นเท่าเทียมก็ควรมองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ครบถ้วน แล้วย้อนดูว่าทุกวันนี้เด็กไทยได้รับความเท่าเทียมครบถ้วนแล้วหรือยัง หากมองที่ภาคการศึกษา การเรียนฟรีตั้งแต่ประถม-มัธยมนั้น ไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคนเสมอไป เพราะผู้ปกครองยังต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะส่วนอื่นๆ เข้ามาอีก ไหนจะเป็นชุดนักเรียน ตำรา ค่าเรียนพิเศษและอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งช่วงเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยิ่งเป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายสูงมาก และสุดท้ายก็ตกเป็นภาระของเด็กๆ ที่จบการศึกษาในภาคปริญญาตรีที่ต้องหาเงินมาใช้หนี้ที่สร้างมาทั้งหมดต่อไป

ดังนั้น การได้สิทธิเรียนฟรี มันก็ต้องควรจะฟรีแบบจริงๆ ทุกเม็ดทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด จะเป็นการช่วยลดภาระผู้ปกครองได้เป็นอย่างมาก แต่การได้สิทธินี้ ก็จำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลักๆ เช่นกัน ทั้งในเรื่องคุณสมบัติที่เหมาะสม ความตั้งใจของตัวเด็กเองที่อยากเรียนก็ต้องได้เรียน ไม่ใช่เรียนแล้วเป็นภาระตามมาทีหลัง

ข้อเรียกร้องให้ล้างหนี้กำลังแยกไม่ออกระหว่าง สิทธิ และ หน้าที่ จะมาอ้างว่าต่อสู้เพื่อ สิทธิความเท่าเทียมในการศึกษา ก็ควรต่อสู้เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อล้างหนี้ให้ตนเอง

“กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการให้กู้ยืม หากยกเลิกหนี้จำนวน 337,857 ล้านบาท จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา” นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าว

กยศ. ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมาก และมีมาตรการลดหย่อนหนี้มาตลอด

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ตามที่ปรากฏเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้กยศ. โดยการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น

กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี

อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และในขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดย

– ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

– ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้

– ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว

– ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี

– ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)

อีกทั้งกองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย

ผู้เขียนมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแน่นอน ทั้งในมุมของผู้กู้ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินจริงๆ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การหางานทำและรายได้ที่ยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ จะมีทางออกอย่างไรที่ดูแล้ว Win Win กันทั้ง 2 ฝ่าย หรือเพื่อนๆ มองว่าปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไร ลองมาเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางกันได้เลยนะคะ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here