รับมือเครียดลงกระเพาะ โรคใกล้ตัวคนคิดมาก

0
518
kinyupen

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวเป็นคำที่ไม่เกินจริง เมื่อเราสุข ร่างกายก็พร้อมสู้ เมื่อเราเสียใจ ร่างกายก็อ่อนเปลี้ยไปหมด เวลาที่เรามีอาการเครียดมากๆ ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดความแปรปรวนตามไปด้วย

บางคนเครียดจนกินอะไรไม่ลง คลื่นไส้ แสบท้อง ท้องเสีย เป็นสัญญาณว่าโรคเครียดลงกระเพาะกำลังถามหา กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตชวนทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

“ความเครียด” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย และอาจนำมาสู่โรคทางกายต่าง ๆได้ หนึ่งในนั้นคือโรคกระเพาะหรือที่รู้จักกันว่า “เครียดลงกระเพาะ” ซึ่งเป็นโรคไม่รุนแรง แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง

อาการเครียดลงกระเพาะ

นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า กลุ่มโรคกระเพาะในทางการแพทย์สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มอาการ ได้แก่

1. อาการปวดลิ้นปี่ เกร็งจุกเสียด

2. อาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่

3. อาการท้องอืด แน่น หลังรับประทานอาหาร

4. อาการไม่อยากอาหาร อิ่มเร็ว

หากมีอาการเหล่านี้ แต่ตรวจแล้วพบว่าไม่มีสาเหตุทางกายภาพ หรือไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร ทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน หรือ Functional Dyspepsia ซึ่งเป็นกลุ่มโรคกระเพาะที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่มีปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจน

ความเครียด เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องโรคกระเพาะได้ เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองมีผลต่อการทำงานของกระเพาะ ไม่ว่าจะเป็นทำงานช้าลง ส่งผลให้มีการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะเยอะขึ้น จึงเป็นที่มีของคำว่า “เครียดลงกระเพาะ” ซึ่งสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ

เพราะในแต่ละวัยมีความเครียดตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น วัยเรียนอาจจะมีความเครียดมากในช่วงสอบ โดยเฉพาะการสอบเพื่อเลื่อนระดับชั้น หรือสอบเพื่อย้ายเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ในขณะที่วัยทำงาน อาจมีความเครียดจากความกดดันในหน้าที่การงาน

การดูแลรักษา “เครียดลงกระเพาะ”

“เครียดลงกระเพาะ” ไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการปวด อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด

นอกจากนี้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนอาหาร เพราะอาหารบางอย่างอาจไปกระตุ้นอาการปวดท้องกระเพาะได้ โดยเฉพาะประเภทอาหารเหล่านี้ได้แก่ ของมัน ของทอด อาหารปิ้งย่าง อาหารรสจัด และเครื่องดื่มคาเฟอีน ที่มักกระตุ้นให้การหลั่งกรดในกระเพาะเยอะขึ้น ทั้งนี้ ควรกระจายมื้ออาหารโดยการลดปริมาณอาหารต่อมื้อ และเพิ่มความถี่ในการรับประทานอาหารแทน

สำหรับการรักษาด้วยยา จะขึ้นอยู่กับว่ามีอาการปวดท้องกระเพาะแบบไหนตาม 4 กลุ่มอาการ

  • หากเป็นกลุ่มอาการปวดจุกเสียด หรือปวดแสบท้องกระเพาะ สามารถรับประทานยาเคลือบกระเพาะ ลดกรด เช่น ยาธาตุน้ำขาวในการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้
  • หากเป็นกลุ่มอาการอืดแน่นท้องหลัง หรือรับประทานแล้วอิ่มง่าย อิ่มเร็ว แนะนำให้รับประทานยาที่ช่วยปรับการทำงานของกระเพาะ เช่น ยาขับลมช่วยย่อย

หากรับประทานยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการที่เป็น

“ความเครียดและความวิตกกังวล สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร หากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตนเอง แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์

ส่วนผู้ที่มีอาการปวดท้อง จุกหรือเสียดท้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร” นายแพทย์สุขประเสริฐกล่าว

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here