เทรนด์การทำงานของเด็กยุคนี้ ว่ากันว่า เด็กเจนวายไม่สนใจทำงานประจำ เมินการเป็นมนุษย์เงินเดือน อยากเป็นฟรีแลนซ์ ต้องการมีอิสระในการใช้ชีวิต ทำงานเมื่ออยากทำ หยุดพักผ่อนหยุดเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิตเมื่อไหร่ก็ได้
ไม่น่าประหลาดใจที่พ่อค้าแม่ขาย นักธุรกิจรุ่นหนุ่มสาว ร้านค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่แบบชิก ๆ คูล ๆ มีสไตล์เก๋ไก๋
แต่เดี๋ยวก่อน!!
ก่อนจะตัดสินใจขอพ่อขอแม่ หรือควักเงินส่วนตัว ลงทุนทำธุรกิจ เปิดร้านเป็นของตนเอง กฎข้อแรกที่ต้องรู้ ก่อนเป็นนักธุรกิจ คือ..ต้องคำนวณเป็น!!
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมาแชร์ทริกจากเพจ เพื่อนแท้ร้านอาหาร ซึ่งได้บอกวิธีการคำนวณต้นทุนการทำร้านอาหารสำหรับมือใหม่ ศึกษาก่อนลงทุน ดังนี้
ร้านอาหาร 1 ร้าน มีต้นทุนสำคัญอะไรบ้างที่เจ้าของต้องคุมให้อยู่
ร้านจะมีกำไรได้มาก ได้น้อย หรือ ไม่มีกำไรเลย การบริหาร “ต้นทุน” ของร้านมีส่วนสำคัญมาก และเรื่องโครงสร้างต้นทุนเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่เจ้าของกิจการต้องรู้
และต้องบริหารให้ต้นทุนแต่ละหมวดหลักให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะถ้าสามารถบริหารให้อยู่ในสัดส่วน%เหมาะสมได้ กำไรก็จะเกิดตามมา
ซึ่งการทำร้านอาหาร 1 ร้านจะมีโครงสร้างต้นทุนหลัก ๆ ในสัดส่วนมาตรฐาน ดังนี้
1. Food Cost ต้นทุนอาหาร ควบคุมให้ต่ำกว่า 35% ของยอดขาย
2. Labor Cost ค่าแรงพนักงาน ควบคุมให้ต่ำกว่า 20% ของยอดขาย
***สำคัญมาก ๆ ใน Labor อย่าลืมใส่ค่าแรงตนเองลงไปด้วย!!!***
3. Other Control Cost ต้นทุนอื่น ๆ ที่ควบคุมได้ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ & internet ค่าเดินทางซื้อของ และอื่น ๆ ที่ควบคุมได้ ควบคุมให้ต่ำกว่า 10% ของยอดขาย
4. Rent ค่าเช่าพื้นที่ ควรต่ำกว่า 10% ของยอดขาย เนื่องด้วยค่าเช่าเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ไม่แปรผันตามยอดขาย สิ่งที่สามารถทำให้ค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 10% ได้ คือการผลักดันยอดขายให้สูง ๆ
หลังจากหักค่าใช้จ่าย 4 ข้อนี้ ควรเหลือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายข้อต่อไปที่ 25-30%
5. Other Uncontrol Cost ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ ค่าภาษี ค่าจ้างทำบัญชี ค่าบริหาร ค่าเช่าสำนักงานใหญ่ ค่าเช่าครัวกลาง (ถ้ามี)
6. Depre&Amor ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย
สำหรับส่วนนี้อธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า ค่าลงทุนกับการก่อสร้างร้านแล้วกันนะครับ ให้คิดหลักการง่าย ๆ คือ ลงทุนเท่าไรคิดค่าเสื่อมที่ 20% ต่อปี
สำหรับค่าใช้จ่ายข้อ 5 และ6 ควรต่ำกว่า 15% ของยอดขาย
เมื่อหักทุกอย่างแล้วเท่ากับ Net Income/Loss ควรมีกำไรอยู่ที่ 10% ขึ้นไป ต่ำกว่านี้อันตรายมาก
ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่สำคัญมาก ๆ (เบื้องต้น) สำหรับการบริหารโครงสร้าง “ต้นทุน” ของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะร้านเล็ก ร้านใหญ่ ก็ตาม
ปัญหาขายแล้วมีแต่เงินหมุนไม่เหลือกำไร ก็เพราะไม่ทราบโครงสร้างนี้ และไม่รู้แนวทางในการบริหารจัดการให้ต้นทุนแต่ละตัวอยู่ในสัดส่วนเหมาะสม ก็เป็นไปได้