เช็กอาการ ! ซึมเศร้าหลังตื่นนอน (Morning Depression)

0
1626
kinyupen

เช้าวันใหม่ที่แสนสดใส เราควรจะมาพร้อมกับความรู้สึกสดชื่นจากการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มใช่มั้ย? แต่บางคนอาจมีภาวะอาการรู้สึกเบื่อหน่าย หดหู่ ไม่อยากลุกจากเตียง โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในบางวันค่ะ

แต่หากวันไหนตื่นมาพร้อมความรู้สึกเศร้าและหดหู่ในระดับที่มากกว่าปกติ รวมถึงอาการที่ว่านี้กลับค่อยๆ หายไปหรือดีขึ้นระหว่างวัน เป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าในตอนเช้า ‘morning depression’ โดยวันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาคุณมารู้จักกับภาวะซึมเศร้าในตอนเช้า และทำอย่างไรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ทำไมถึงต้องซึมเศร้าในช่วงเช้าหลังตื่นนอน?

ในหลายงานวิจัยสันนิษฐานว่า ภาวะซึมเศร้าหลังตื่นนอน (morning depression) อาจเป็นผลมาจากการตอบสนองต่อนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปกติร่างกายของคนเราจะมีรูปแบบการตื่นตัว นอนหลับ ปรับอุณหภูมิ ความดัน และระดับฮอร์โมนร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ช่วงที่ฟ้าเริ่มสว่าง ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมากกว่าช่วงเย็น

ในขณะที่เมลาโทนินจะถูกกระตุ้นให้ผลิตออกมาช่วงที่แสงสว่างน้อยหรือตอนกลางคืนนั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจพบปัญหาการนอนทำให้มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังตื่นนอนขึ้นมาได้ ส่วนคนที่ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า การกินนอนไม่เป็นเวลาก็มีผลต่อการเกิดอารมณ์ทางลบและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน

วิธีสังเกตภาวะซึมเศร้าหลังตื่นนอน

1. การสังเกตตนเอง ให้ลองสังเกตตัวเองว่าหลังตื่นนอนนั้นเรามีอาการหรือภาวะจิตใจหดหู่ไหม? และหลังจากการตื่นในตอนเช้า เราไม่อยากลืมตาขึ้นมาดูโลกเลยอะไรที่เคยชอบก็กลายเป็นไม่ชอบ เบื่อไปหมด แต่พอสายๆ พบปะผู้คนมากๆ รู้สึกดีขึ้น

2. การสังเกตคนอื่น ถ้าหากเพื่อน ญาติ ลูก สามีหรือภรรยาของคุณ แยกตัวเองเงียบ ไม่พูด ชอบอยู่คนเดียว หมดความสนใจสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจกิจวัตรประจำวันตนเอง พวกเขาอาจจะมีอาการเบื้องต้นที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

จัดการกับปัญหานี้อย่างไร?

1. อย่างแรกที่เริ่มง่ายที่สุดคือการบริโภคอาหาร คุณควรหาอาหารบำรุงร่างกาย เนื่องจากส่วนใหญ่ร่างกายขาดสารอาหาร ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวได้ คุณอาจจะหาอะไรที่ท่านคิดว่าบำรุงร่างกายจะช่วยคุณได้ โดยเฉพาะของหวาน เนื่องจากของหวานมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนโดรฟินที่ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น

2. ออกกำลังกายให้เหงื่อล้างความไม่สดใสไป พอรู้สึกว่าตัวคุณเริ่มที่จะไม่สดใส ให้คุณลองหันมาออกกำลังกายให้ร่างกายได้ใช้พลังงาน พร้อมกับดื่มน้ำให้เพียงพอ และเมื่อคุณกลับบ้าน อาบน้ำ สระผมด้วยแชมพูที่มีกลิ่นหอมสดชื่น ฟอกสบู่ยี่ห้อที่คุณชอบ ล้างร่างกายให้สะอาด จากนั้นก็กินอาหารอร่อยๆ เท่านี้ร่างกายก็จะเข้าสู่ปกติที่ดีขึ้นอีก

3. กวาดขยะในสมอง เพื่อให้สมองโล่ง โดยการฝึกสมาธิ นั่งท่าสบายๆ หรือจะนอนก็ได้ ให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สบายๆ หลับตานึกคำพูดอะไรก็ได้ กำหนดความรู้สึกอยู่ที่คำพูดสัก 10-15 นาที สมองจะโล่ง ความคิดจะถูกจัดให้เป็นระเบียบเป็นระบบมากขึ้น และสามารถคิดครอบคลุมสิ่งต่างๆ ได้มากมาย

4. นอนให้พอ อย่านอนดึก ถ้านอนไม่หลับก็ใช้วิธีการนอนสมาธิยิ่งดีเสียอีก ลองปิดไฟแล้วนอนสมาธิ หรือไม่ก็ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย หรืออาจจะใช้พวกเครื่องหอมร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามนอกจากการพักผ่อนให้เพียงพอที่จะส่งผลเกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวิตของเราแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือให้คุณหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ รวมทั้งปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หากไม่แน่ใจว่าอารมณ์ความรู้สึกที่เผชิญอยู่นั้น ควรได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้วยหรือไม่

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here