เมื่อจอนได้รับการติดต่อจากตปท. สิ่งแรกที่ทำคือ ขอคำแนะนำเรื่องการส่งออกกับทาง EXIM BANK ซึ่งจอนได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องความรู้เกี่ยวกับการส่งออก รวมถึงพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นมาก
ระยะกว่า 15 ปีในการเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ทำให้เรียนรู้ว่าชีวิตเมืองกรุงไม่ตอบโจทย์ “เสาวลักษณ์ มณีทอง (จอน)” ลูกหลานสายเลือดเกษตรกรใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่เข้ามาเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพ ตัดสินใจกลับบ้านเกิดพลิกฟื้นผืนดินที่เคยอยู่ หวังสร้างรายได้และแบ่งปันให้คนในชุมชนบ้านเกิด เกิดเป็นธุรกิจแปรรูปสมุนไพรและยังส่งออกไปไกลถึง อเมริกา ศรีลังกาและออสเตรเลีย สร้างรายได้ให้เธอและชุมชนมากกว่า 10 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
ชีวิตผิดทาง กลับบ้านสร้างฝันใหม่
เมืองหลวงกรุงเทพฯ สำหรับเด็กต่างจังหวัดนั้นอาจเป็นเมืองแห่งโอกาส ตอบโจทย์การสร้างชีวิต แต่สำหรับ “เสาวลักษณ์ มณีทอง (จอน)” ที่ได้เข้ามาใช้ชีวิตทั้งเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพมากว่าสิบปี เธอยอมรับว่า การใช้ชีวิตในเมืองหลวงเหมือนเธออยู่ผิดที่ผิดทาง และคิดมาตลอดว่าอยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของเธอที่จังหวัดตาก เธอไม่ได้ตัดสินใจเพียงชั่วครั้งชั่วครู่ เธอใช้ระยะเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คิดและทบทวนกับตัวเอง รวมถึงเริ่มใช้ความรู้ที่เรียนมาจากคณะบริหารธุรกิจ-เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ วางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หาจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง รวมถึงหาความรู้มาเติมเต็มสิ่งที่เธอยังขาด และพยายามหาโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถไปทำได้เมื่ออยู่บ้านเกิดของเธอ
“ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่กรุงเทพ ทุกครั้งที่จอนนั่งรถกลับบ้าน จอนจะเห็นว่าผืนป่าที่จอนคุ้นชินตั้งแต่เด็กนั้นค่อยๆหายไปและเมื่อกลับไปถึงบ้านก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย พี่ป้าน้าอาในชุมชนยังทำเกษตรแบบเดิมๆ ปลูกเสร็จก็ส่งขายตามตลาดหรือร้านปลีก ไม่มีการตลาด ไม่มีการผลิตหรือแปรรูปอะไรที่เพิ่มมูลค่าเลย พอมานั่งคิดสาเหตุที่ผืนป่าที่หายไปมาจากการตัดไม้ทำลายป่า คิดในทางกลับกันหากเราสร้างรายได้จากผืนป่า จะทำให้พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นกลับมาขณะเดียวกับสร้างรายได้ให้ชุมชน จอนเลยเริ่มที่การแปรรูปผลผลิตในชุมชน โดยให้มันสามารถขายได้จริงขึ้นมา” เธอบอก
โอกาสใหม่ติดปีกโมเดลธุรกิจ สู่ตลาดนอก
เสาวลักษณ์ เธอเป็นนักวางแผนที่ดีคนหนึ่ง เธอเรียนรู้จากการศึกษาข้อผิดพลาด โดยเธอได้มีการศึกษาข้อผิดพลาดของเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องของการตลาดและแปรรูป จึงได้มีการไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมและเริ่มเปิดเพจขายของออนไลน์ ใช้ชื่อว่า “Plant Love หรือปลูกรัก” โดยเริ่มจากหาของมาขาย พอเชี่ยวชาญในการขายและมั่นใจว่าขายได้จริง ก็เปลี่ยนจากการเอาของคนอื่นมาขาย เป็นไปจ้างโรงงานผลิตแล้วขายในแบรนด์ของตัวเอง
จนเธอได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องของการแปรรูป กระบวนการผลิต รวมไปถึงเรื่องของการบริหารจัดการในโรงงาน และได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรชื่อว่า “ปันแสน” โดยผลิตสมุนไพรสด สมุนไพรตากแห้ง และสมุนไพรแปรรูป ขณะเดียวกันเธอยังมีสวนเกษตรอินทรีย์ “สวนปันสุข” ที่เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไว้สำหรับปลูกพืชและสมุนไพรที่หลากหลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต
“แรกเริ่มจอนทำเพจปลูกรัก โดยนำสินค้าสมุนไพรที่เพิ่มน้ำนมแม่ เพราะเป็นช่วงที่ตัวเองมีลูกพอดี จากนั้นก็เริ่มมีการนำสินค้าสมุนไพรอื่นๆมาขาย จนเข้าใจกระบวนการผลิต เข้าใจการบริหารจัดการในโรงงาน จึงได้กลับบ้านเกิดตั้งชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรักขึ้น รวมถึงทำสวนปันสุข สวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกพืชและสมุนไพรปลอดสารพิษ สิ่งหนึ่งที่จอนคำนึงถึง คือเรื่องของคุณภาพสินค้าสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ของเราส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปลอดสารเคมี รักโลก จอนคิดว่าเมื่อเราผลิตสินค้าที่ดี ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคสินค้าที่ดีด้วย”
ช่วงเริ่มธุรกิจเธอมีสมาชิกเพียงแค่ 7 คนและพบปัญหามากมาย แต่เธอถือคติที่ว่า “หากจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาด” และด้วยความพยายามนี้เองทำให้ธุรกิจของเธอได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เติบโตจนมีสมาชิกเกษตรกรอยู่หลายร้อยครัวเรือน รวมถึงผลผลิตของเธอได้รับมาตรฐานการรับรองทั้ง USDA organic, GMP, HACCP, HALAL, Bio Economy ซึ่งนั่นเองที่นำมาซึ่งโอกาสในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะอเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย รวมถึงตลาดใหม่ๆ ในอนาคต
“หลังจากที่ธุรกิจของจอนได้รับมาตรฐานการรองรับที่หลากหลาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของธุรกิจจอนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ที่ปรึกษาทางธุรกิจจึงเป็นอีกปัจจัยที่จอนมองว่าสำคัญ เมื่อจอนได้รับการติดต่อมาจากต่างประเทศ สิ่งแรกที่จอนทำคือ ขอคำแนะนำเรื่องการส่งออกกับทาง EXIM Bank (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) ซึ่งจอนได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลืออย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องความรู้เกี่ยวกับการส่งออก รวมถึงพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศซึ่งทาง EXIM Bank มีพาร์ทเนอร์ในมือที่หลากหลาย ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นมาก”
เติบโตไปพร้อมกับคนในชุมชน
ถ้าถามถึงแรงบันดาลใจในวันที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ เธอย้ำอยู่เสมอว่า อยากให้ผืนป่ากลับมาเหมือนเดิม ขณะเดียวกันสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้อยู่ดีกินดี เธอเลยตีโจทย์ป่าออกมาเป็นรายได้ ทำธุรกิจเกษตรด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนให้มีรายได้ที่น่าพอใจ คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร วางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ จนกลายมาเป็น “สวนปันสุข” ที่ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของเธอ
อ่านบทความ : 5 เคล็ดลับ! ถ้าอยากขายของตีตลาดต่างประเทศ – kinyupen
“วันนี้จอนอยู่ในจุดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ช่วยให้พี่ป้าน้าอาในชุมชนมีรายได้จุนเจือครอบครัว อีกทั้งยังต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน จอนแค่ลองคิดว่าหากคนอีกหลายๆคนที่มีความสามารถหันมาดูแลพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาให้เติบโตไปด้วยกัน มองอีกมุมของจอนในอนาคตจอนก็จะมีพวกเขาเหล่านี้มาเป็นพาร์ทเนอร์ ช่วยเหลือเกื้อกูลผลิตผลของไทยส่งออกสู่สากล”