เหลือเวลาอีกนิดก็จะเข้าสู่เดือนพฤษภาคมแล้ว หลายคนอาจกำลังเล็งหาวันหยุดในการวางแผนเที่ยวกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้ใจ เดือนพฤษภาคมนี้เรามีวันหยุดมากถึง 4 วัน โดยหนึ่งในนั้นก็รวมไปถึง “วันแรงงาน” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แต่คุณรู้หรือไม่ว่าทำไม “วันแรงงาน” ถึงตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนมาหาสาเหตุว่าทำไมวันแรงงานต้องตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมกัน
วันแรงงานคืออะไร?
วันแรงงาน หรือในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “เมย์เดย์ (May Day) ” ซึ่งในต่างประเทศจะถือว่าเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ เกษตรกรในประเทศแถบยุโรปจะหยุดงาน เพื่อจัดพิธีเฉลิมฉลองและบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตรหรือเทพีดิมิเทอร์ (Demeter) ภายหลังในยุคที่เศรษฐกิจหลักของประเทศที่พัฒนาแล้วเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม จึงทำให้ประเพณีวันหยุดประจำปีนี้ถูกยกเลิก ในขณะที่กลุ่มแรงงานพวกนี้ต้องทำงานมากถึงสัปดาห์ละ 6 วัน วันละเกือบ 10-16 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ประชาชนในสหราชอาณาจักรจึงมีเริ่มเรียกร้องการปรับปรุงเวลาและเงื่อนไขการทำงาน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “วันแปดชั่วโมง” หรือ “EIGHT-HOUR DAY” ในปี ค.ศ. 1817
ภายหลังต่อมาในปี ค.ศ.1856 กลุ่มแรงงานชาวออสเตรเลียพร้อมใจกันประกาศให้วันที่ 21 เมษายน เป็นวันหยุดประจำปีของแรงงานทุกคนภายในประเทศ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ในวันแปดชั่วโมงในสหราชอาณาจักร และต่อมาสหพันธ์สหภาพแรงงานจึงประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1886 เป็นวันระลึกถึงวันแปดชั่วโมงทั่วโลกเนื่องจากแรงงานในสหรัฐฯ ทั่วประเทศมีการหยุดงานและออกประท้วงเพื่อสนับสนุนวันดังกล่าว แต่เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมในเมืองชิคาโก้ จนเป็นเหตุให้ตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก
จนกระทั่งในปี 1904 ระหว่างการประชุมสังคมนิยมระหว่างประเทศที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเยอรมนี ก็เกิดกรณีเรียกร้อง ให้องค์กรพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและสหภาพแรงงานทั่วโลก ประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม และกำหนดให้องค์กรกรรมกรทั่วโลกหยุดทำงานในวันเดียวกัน นับจากนั้นเป็นต้นมา วันที่ 1 พฤษภาคมจึงเป็น “วันกรรมกรสากล” หรือ “วันเมย์เดย์”
วันแรงงานในประเทศไทย
ส่วนในประเทศไทยเรานั้นได้มีการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 โดยมีสาเหตุคล้ายกับทางฝั่งตะวันตกคือ อุตสาหกรรมภายในประเทศไทยนั้นได้ขยายตัว ผู้ใช้แรงงานก็มีปัญหามากขึ้น รวมทั้งปัญหาแรงงานก็มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน จึงได้จัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของ “วันกรรมกรแห่งชาติ”
อย่างไรก็ตามได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย แต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป