9 วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยากเก็บเงิน

0
1067
kinyupen

เชื่อว่าหลายคนเป็น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รู้ตัวดีว่าการเก็บออมเป็นเรื่องจำเป็น แต่ใจมันไม่ฟัง มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้หมด หักดิบเท่าไหร่ก็ยิ่งทรมาน ใครที่มีนิสัยเก็บเงินไม่อยู่ แก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจในการออมเงินมาฝาก เพื่ออนาคตที่สดใสของพวกเรา!

 

 

1. กำหนดเงินเก็บตามเหตุการณ์

ลองตั้งเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องควักเงินใส่กระปุกเป็นครั้งคราวดู เช่น ถ้านายกฯ ขึ้นแถลงข่าว เก็บ 50 บาท, ถ้าศิลปินหรือดาราที่ชอบออกงานใหญ่ เก็บ 1,000 บาท, ถ้าเน็ตไอดอลโพสต์ทวิตเตอร์ เก็บ 100 บาท, แม่มาหาที่บ้าน เก็บ 300 บาท

 

2. ตั้งค่าปรับของตัวเอง ถ้าผิดกฎก็หยอดกระปุกซะ

คล้ายๆ ข้อ 1 แต่วิธีนี้ขึ้นอยู่กับตัวเอง พัฒนาคนด้วยค่าปรับไงล่ะ ได้ทั้งเก็บเงิน แถมยังเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเวอร์ชันที่ดีขึ้นได้ด้วย เช่น

  • ทะเลาะกับแฟน 1 ครั้ง เก็บ 500 บาท
  • พูดคำหยาบ เก็บคำละ 20 บาท
  • น้ำหนักขึ้น เก็บขีดละ 200 บาท
  • ไม่ออกกำลังกาย เก็บครั้งละ 100 บาท
  • โต้รุ่งดูซีรีส์ เก็บ 1,000 บาท
  • กินอาหารหลัง 6 โมง เก็บ 500 บาท

 

3. ออมเงินตามเลขท้ายหวยรางวัลที่ 1

แนะนำให้ออมตามเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลใหญ่สุด จำนวนไม่มากไม่น้อยเกินไป แถมลุ้นเต็มที่ เช่น วันที่ 1 หวยออก 999997 (ต้องออม 997 บาท) และวันที่ 16 หวยออก 322020 (ต้องออม 20 บาท) เดือนนี้ก็จะเก็บเงินได้ 1,017 บาทนั่นเอง

ถ้าโดนเลขประเภท 999 บ่อยๆ ก็ต้องรับสภาพนะคะ ฮ่าๆ

 

4. เก็บเหรียญที่ชอบ ออมแบงก์ที่ใช่

เลือกออมเฉพาะเหรียญหรือแบงก์ที่เราเลือก หากได้รับจากเงินทอน หรือรายรับ ก็แยกไว้ออมทันที ห้ามใช้! เช่น ออมแบงก์ใหม่, ออมแบงก์เลขสวย, ออมเหรียญ 10 บาท, ออมเหรียญ 2 บาท, ออมแบงก์ 20 แต่ที่นิยมสุดๆ คือการออมแบงก์ 50 เพราะเป็นแบงก์ที่มีโอกาสได้รับเป็นเงินทอนน้อยกว่าแบงก์อื่น และออม 50 บาทก็เหมาะสมกับหลายๆ คน

 

5. ใช้ตารางออมเงิน

ผู้ออมเงินกลุ่มหนึ่งจะปริ๊นตารางออมเงินสวยๆ ลงกระดาษ หรือเขียนตารางเอง แปะที่ผนังแล้วกากบาทช่องที่ออมไปแล้ว คล้ายๆ การขีดฆ่าปฏิทิน ทำเป็นกิจกรรมเพื่อเป็นการเตือนตัวเอง แล้วจะได้เงินออมตามที่ต้องการ

ดาวน์โหลดตารางออมเงินสวยๆ ที่ สูตรออมเงิน 2022 แก้เบื่อ ชาเลนจ์ตัวเอง พร้อมตารางออมเงิน

 

6. กระตุ้นต่อมอยากออมด้วยการอ่านบทความ หรือกระทู้เกี่ยวกับการเงิน

เชื่อไหมว่าบทความธรรมดาสามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้ และบทความกินอยู่เป็นอันนี้ก็จะช่วยเปลี่ยนชีวิตคุณได้เช่นกัน ลองหาอ่านบทความ กระทู้ยอดฮิตเกี่ยวกับการเงิน หรือพอดแคสต์เล่าเรื่องเงินๆ ทองๆ แม้แต่เรื่องความล้มเหลว ประสบการณ์ ความท้อแท้สิ้นหวังทางการเงิน ก็ยังช่วยเป็นอุทาหรณ์ให้คุณ และช่วยให้เห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น

 

7. เข้ากลุ่มออมเงิน

เมื่อได้อ่านเรื่องราว หรือประสบการณ์การเงิน ก็ทำให้เราคล้อยตามสังคมการออมเงินได้ยิ่งขึ้น อย่างน้อยคุณจะได้เห็นว่าหลายๆ คนก็ทำสำเร็จได้ คุณสามารถปรึกษาปัญหาการเงินของคุณในกลุ่มนั้นได้ (ทั้งนี้ให้บอกประเด็นกว้างๆ ไม่ต้องเจาะลึกเรื่องส่วนตัวจนเกินไป เพื่อความปลอดภัยนะคะ) แถมคุณอาจได้พบวิธีออมเงินใหม่ๆ จากผู้คนในกลุ่มออมเงิน

 

8. หาเพื่อนเก็บเงินไปด้วยกัน

เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เพื่อนช้อปปิ้งมันธรรมดาเกินไป คราวนี้ต้อง ‘เพื่อนออมเงิน’ ไปเลยจ้า

แชร์วิธีออมเงินให้แก่กัน แนะนำแอปฯ ออมเงิน หรือลงทุนดีๆ ให้แก่กัน หรือแข่งกันออมเงินไปเลยก็ดีเหมือนกันค่ะ ถ้าเพื่อนปัจจุบันที่มีอยู่ในตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ ก็หาเพื่อนจากกลุ่มออมเงินต่างๆ ก็ได้นะคะ

 

หรืออีกวิธีคือลงขันออมเงินกับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ หรือออมเงินกับแฟนไปเลย โดยผู้เขียนใช้ฟังก์ชัน Cloud Pocket ของแอปพลิเคชัน Make by Kbank เก็บเงินด้วยกันในกระเป๋าเดียวกัน แถมแยกบัญชีได้ด้วย จะเป็นบัญชีเที่ยวต่างประเทศ, ออมไว้อยู่บ้านพักคนชราในอนาคต (เพื่อนกันแก่ไปด้วยกัน) , ออมไว้แต่งงานกัน เป็นต้น

 

9. สร้างหนี้

“หนี้สิน” ของคู่กายของเหล่ามนุษย์เงินเดือน กลายเป็นกำลังใจที่ดีในการหาเงิน ลองผ่อนรถ ผ่อนสมาร์ตโฟน หรืออะไรต่างๆ ดูสักครั้งสิ ใครสร้างหนี้ด้วยทรัพย์สินสร้างคุณค่าในอนาคตยิ่งดี อย่างอสังหาฯ หรือผ่อนทองคำ แต่ต้องแน่ใจว่าสามารถจ่ายไหว ไม่ฝืดเคืองเกินไป

 

เมื่อชีวิตได้ลองผ่อนหนี้จนหมดแล้ว เดือนต่อไปเรายังสามารถเอาเงินส่วนที่เราเคยต้องชำระหนี้ ไปออมแทนได้เลย เพราะเราผ่านการฝึกคุมค่าใช้จ่ายมาแล้วยังไงล่ะ!

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

“หนี้สิน” กำลังใจที่ดีที่สุดในการทำงาน – Kinyupen

 

การเป็นหนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป ยิ่งเราผ่านการผ่อนจนครบ จ่ายตรงเวลา ทางแบงก์จะมองว่าเราเป็นลูกหนี้ชั้นดี สามารถไว้ใจได้ ทำให้มีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น เผื่อประกอบธุรกิจในอนาคตได้ด้วย

หรือถ้าใครยังไม่อยากเป็นหนี้จริงๆ ลองซ้อม ‘ผ่อมลม’ สมมติว่าถ้าผ่อนรถ ต้องจ่ายเดือนละ 8,000 บาท นาน 7 ปี ก็ลองผ่อนหลอกๆ แล้วเอา 8,000 บาท ไปออมเงินแทนก็ได้นะคะ

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่สามารถกำหนดจำนวนเงินที่ได้แน่นอนจริงๆ ถ้าอยากแก้นิสัยเก็บเงินไม่อยู่ และทำแผนการออมที่จริงจังกว่านี้ ควรสำรวจตัวเองสักครั้งว่า ทำไมเราถึงออมเงินไม่ได้” เพื่อมองหาปัญหาและอุปสรรคในการออมเงิน รวมถึงข้ออ้างต่างๆ ในชีวิตคุณด้วย แล้วจัดการแก้ไขมันซะ เพื่อความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริงค่ะ

kinyupen