จ๊าก!! เงินเฟ้อ มี.ค.กระฉูดสุดรอบ 13 ปี พาณิชย์ปรับเป้าทั้งปีพรวดเป็น 4-5%

0
711
kinyupen

สนค. เผยเงินเฟ้อมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าไฟ ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดแนวโน้มสูงต่อ หลังผลกระทบจากสงคราม ก๊าซหุงต้ม น้ำมันขึ้น ล่าสุด ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่เป็น 4-5%

 

 

วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 และเพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% พร้อมกันนี้ สนค. ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2565 ใหม่อยู่ที่ 4-5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.7-2.4%

 

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่

  • ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) เพิ่ม 5.74%
  • ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08%
  • เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16%
  • อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28%
  • อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15%

 

โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

 

 

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2565 มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น และยังมีสงครามคู่ขนาน ที่หลายประเทศคว่ำบาตร รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของก๊าซหุงต้ม ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และต้นทุนสินค้าหลายรายการที่สูงขึ้น

 

นายรณรงค์ กล่าวว่า จากแนวโน้มที่เงินเฟ้อสูงขึ้น สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ จากเดิมอยู่ในกรอบ 0.7-2.4% ค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ยังไม่มีภาวะสงคราม

แต่จากปัจจัยดังกล่าว จึงปรับประมาณการใหม่อยู่ในกรอบ 4-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง รวมไปถึง มาตรการของภาครัฐ การกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19

 

 

ส่วนความกังวลที่จะเกิดสถานการณ์ เศรษฐกิจถดถอย (Stagflation) และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง

แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม

kinyupen