คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนเมษายน โดยสรุปว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง
ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน
เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรงขึ้นได้
นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ
ดังนั้น แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคาดว่าจะเติบโตได้ ความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้
ที่ประชุม กกร. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวได้ในกรอบ 2.5 – 4.0% และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0 – 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในกรอบ 3.5 – 5.5%
นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 10 ปีที่ผ่านมา “เงินเฟ้อ” ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไรบ้าง
- ถล่มยูเครน ของแพง เงินเฟ้อพุ่ง ttb คาดศก.ไทยปีนี้โตแค่ 3%
- KKP ปรับ GDP เหลือ 3.2% หวั่นราคาน้ำมันสูงกระทบไทยหนัก
- กกร.จี้รัฐตรึงราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเช้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ
กกร. จึงมีความเห็นว่าภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณากฎหมายลำดับรอง จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ไปก่อน