เปิดแล้ว! รพ.กระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข แห่งแรกของไทย

0
1056
kinyupen

เปิดบริการแล้ว! โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข แห่งแรกของไทย ผนึกกำลังกลุ่มศัลยแพทย์กระดูกและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู บริการแบบครบวงจร ส่งมอบผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด ให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตอย่างใจต้องการ

 

โรงพยาบาล kdms ข้อดีมีสุข โรงพยาบาลกระดูกและข้อแห่งแรกของเมืองไทยเปิดให้บริการแล้ววันนี้ รวมผู้เชี่ยวชาญกลุ่มศัลยแพทย์กระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ ร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ผนึกกำลังวางแผนรักษาแบบองค์รวม เพื่อส่งมอบผลลัพธ์การรักษาบริการที่ดีที่สุดให้คนไข้ ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไข้ให้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างใจต้องการ

 

ชูกลยุทธ์สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น จากโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งเรื่องบริการ การออกแบบโรงพยาบาลและความแข็งแกร่งของทีมแพทย์

ตั้งเป้าหมายเป็นอันดับหนึ่งในการสร้างประสบการณ์และผลการรักษาคนไข้โรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อของไทย เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางจนถึงระดับบน โดยปีแรกคาดมีรายได้ 100 ล้านบาท มองคุ้มทุนภายในเวลาสองปีหลังการเปิดให้บริการ

 

 

ผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในสังคมเมือง โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานเป็นเวลานาน ในสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์การทำงานไม่เหมาะสม ทำให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เพิ่มขึ้น

ซึ่งการรักษาคนไข้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะต้องเป็นแบบองค์รวม นำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มศัลยแพทย์กระดูก และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มีแนวคิดว่า การรักษาคนไข้ด้านกระดูกและข้อให้ดีขึ้นไปกว่ามาตรฐานที่มีอยู่นั้น จะต้องมีโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เฉพาะเจาะจงในทุกเรื่องกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ

ก่อตั้ง “โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข” (kdms hospital) โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อแห่งแรกของเมืองไทย

เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพจากการร่วมมือกันวางแผนการรักษา ตั้งแต่การวินิจฉัย การผ่าตัด กายภาพบำบัด และการดูแลอย่างต่อเนื่องหลังผ่าตัด เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไข้ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เช่นเดิม หรือใช้ชีวิตได้อย่างใจต้องการ

 

 

นพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข จำกัด (kdms hospital) เปิดเผยว่า เทรนด์ด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health and wellness) เป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และโรงพยาบาลเฉพาะทางก็เป็นที่ต้องการของตลาด

เพราะคนไข้ต้องการทางเลือกในการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อที่พบเมื่อคนมีอายุมากขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคนในสังคมเมืองก็เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrom) รวมถึงอาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น (Tendinitis) เพิ่มขึ้น

 

จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของโรงพยาบาลกระดูกและข้อ เนื่องจากในเมืองไทยยังไม่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้ แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้ออยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ มองว่าปัจจุบันคนสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารได้ง่าย เพื่อให้เข้าถึงบริการ หรือการรักษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามความต้องการมากขึ้น

 

โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในอาคารและเครื่องมือแพทย์ 320 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 30 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจ “Strengthen Possibilities สร้างพลังให้ทุกการเคลื่อนไหว”

เพราะไม่ได้ต้องการแค่รักษาให้หาย แต่อยากให้คนไข้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตได้ดังใจต้องการ

 

โดยวางเป้าหมายเป็นอันดับหนึ่งในการสร้างประสบการณ์และผลการรักษาคนไข้โรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อของประเทศไทย

ซึ่งแผนธุรกิจในระยะสั้น จะทำให้การรักษา ระบบต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับความต้องการของคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ

ส่วนระยะกลาง เตรียมต่อยอดใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการให้บริการให้มากที่สุด และระยะยาว วางแผนที่จะพิจารณาขยายสาขาไปในพื้นที่ที่มีความต้องการ ให้มีความสอดคล้องไปกับการพัฒนาฝึกอบรมบุคลากร

 

 

“กลยุทธ์ของโรงพยาบาลฯ คือการสร้างความแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปที่มีบริการรักษากระดูกและข้ออย่างชัดเจน โดยนำเอาประสบการณ์และปัญหาในการรักษาจากทั้งผู้ป่วย แพทย์ และเจ้าหน้าที่ในการบริการมาปรับให้ตอบโจทย์ในการรักษา เพื่อส่งมอบผลลัพธ์อย่างดีที่สุดให้กับผู้ป่วย

มีทีมแพทย์เฉพาะทางในทุกอนุสาขาของโรคกระดูกและข้อ มีการวางแผนร่วมกันของแพทย์กระดูกและข้อ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู การออกแบบโรงพยาบาลโดยประสบการณ์ของทีมแพทย์ เพื่อให้เหมาะกับคนไข้โรคกระดูกและข้อ

พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเสริมกับความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งเราจะนำความโดดเด่นเหล่านี้มาสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในทีมแพทย์ รวมถึงบริการของโรงพยาบาลต่อกลุ่ม เป้าหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางจนถึงระดับบน โดยในปีแรกตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 100 ล้านบาท และสามารถผ่านจุดคุ้มทุนได้ในเวลาสองปีหลังการเปิดให้บริการ”

 

นพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ  กล่าวต่อว่า การรักษาโรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ ของโรงพยาบาลข้อดีมีสุข เป็นแบบองค์รวม มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังแผนกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีการทำงานเป็นทีมในการรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจร ร่วมกันออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วยแต่ละคน

โดยจะมีโปรแกรมตั้งแต่การวินิจฉัย การผ่าตัด กายภาพบำบัด การดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้เช่นเดิม หรือใช้ชีวิตตามที่ต้องการ

 

นอกจากทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการรักษา รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดเรื่องพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ให้เหมาะกับคนไข้โรคกระดูกและข้อ

ตั้งแต่ทางเข้าโรงพยาบาลแบบไม่มีขั้นบันได พื้นที่ตรวจ วินิจฉัย รักษาที่อยู่ในฟลอร์เดียวกันทั้งหมด ห้องตรวจรักษาร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ หรือแม้แต่ห้องพักผู้ป่วยที่ออกแบบมาเอื้อให้ผู้ป่วยลุกเดินหลังผ่าตัดได้เร็วที่สุด

 

“หัวใจของการบริการคือ เราต้องสร้างความเป็นไปได้ให้กับทุกการเคลื่อนไหว หนึ่งในคำถามตั้งแต่ต้นคือ นอกจากการรักษาหาย สิ่งที่อยู่ในใจคนไข้คืออยากทำอะไร เราเชื่อว่าทุกคนมีความต้องการอื่นซ่อนอยู่นอกจากการรักษา ต้องมีสิ่งที่อยากไปต่ออีก

เราจึงใส่ใจค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ Mission ของเรามีสองอย่าง หนึ่งจะสร้างผลการรักษาที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร และสองจะสร้างประสบการณ์ในการให้บริการที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร

ด้วยความที่โรงพยาบาลไม่ใหญ่มากการทำงานจึงคล่องตัว และในอนาคตไม่จำเป็นต้องเจ็บป่วยจึงจะมาโรงพยาบาล เพราะเราสร้างโรงพยาบาลนี้เพื่อให้เป็นคำตอบสำหรับเรื่องราว หรือทุกความสงสัยที่เกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น เส้นประสาท

ด้วยทีมหมอที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เป็นโรงพยาบาลที่คนไทยนึกถึงเมื่อมีปัญหากระดูกและข้อ รวมทั้งเป็นต้นแบบของการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ต้องแพง ไม่ต้องใหญ่ แต่ตอบโจทย์ให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด” นพ.ธนพล  กล่าวสรุป  

 

 

kinyupen