ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากมี เราจึงแสวงหามันด้วยวิธีต่างๆ กินอาหารอร่อยๆ ก็มีความสุข ดื่มเหล้าก็มีความสุข แต่นานไปกลับรู้สึกว่างเปล่า ต้องไปเที่ยวแสวงหาความสุขซ้ำๆ
ตัดภาพมาที่คนบางคนไม่ได้ตั้งใจหาความสุขใส่ตัวเลย แต่กลับอิ่มเอมใจ รู้สึกแฮปปี้ทุกวัน
ความสุขมาจากไหนกันแน่? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีนิยามความสุขจาก ศุ บุญเลี้ยง (จารย์จุ้ย) นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักแต่งเพลง วิทยากร ชื่อดังของไทย แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากนิตยสาร Delight Magazine แต่ส่วนนี้ก็ประทับใจมากๆ
เคยได้มีการทำการทดลองเกี่ยวกับความสุข โดยให้คนสองกลุ่มเอาเงินก้อนหนึ่งไปหาความสุข
- กลุ่มแรกจะเอาไปจัดงานอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะนำมาซึ่งความสุข
- ส่วนกลุ่มที่สองกำหนดว่าต้องเอาไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานอาสาสมัคร เพื่อช่วยให้ตัวเองและคนอื่นมีความสุข
กลุ่มแรกเลือกจะจัดงานปาร์ตี้ ปรากฏว่าก็สนุกสนานดีพอกลับมาวัดดัชนีความสุขนั้นก็สูงปรี๊ด สูงกว่ากลุ่มที่เอาไปทำงานอาสาสมัคร
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เขานัดคนสองกลุ่มกลับมาพูดคุยวัดดัชนีแห่งความสุขกันอีกครั้ง
ปรากฏว่าคนกลุ่มที่จัดงานปาร์ตี้ ความสุขได้จืดจางหายไปหมดเกลี้ยงแล้ว แต่กลุ่มที่ไปร่วมทำงานอาสาสมัครยังคงอบอวลไปด้วยความรู้สึกดี ๆ ที่ได้ไปช่วยกันทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น กลับมาพูดคุยเสวนาคราใด ความสุขก็ยังคงค้างคาอยู่ในจิตใจ
สุขเมื่อเป็น ‘ผู้เสพ’
สิ่งที่ง่ายที่สุดในการแสวงหาความสุข คือการเสพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่อร่อย ท่องเที่ยวเพื่อความสุนทรีย์ ดนตรีเพราะๆ บางคนจึงยอมทุ่มทุนกับเครื่องเสียงดีๆ เพื่อความบันเทิงใส่เข้าไปในรูหู สิ่งเหล่านี้ย่อมชักนำให้เรามีความสำราญเบิกบานใจได้
องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่ปรามว่า ระวังจะติดสุข
คนที่สุขจากการเสพ พอเสพเข้าไปเรื่อยบ่อยๆ ก็จะเริ่มติดสุข เริ่มชินกับรสชาติและไม่สุขเหมือนเดิม ต้องเติมออปชั่นเข้าไป
เคยเสพข้าวมันไก่ร้านนี้อร่อยดี ไปอีกทีบอกไม่อร่อย แอร์ไม่เย็น น้ำซุปไม่หวาน
คนเคยดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วติดอกติดใจ พอสร้างภาคสอง ภาคสามตามมา อาจไม่ถูกใจว่าทำไมไม่เหมือนภาคแรก ครั้นย้อนกลับไปดูภาคแรกอีกที อ้าว คราวนี้ทำไมไม่ยักมันเหมือนครั้งก่อนเก่า
ยิ่งสุขจากการเสพมากไป กลับจะยิ่งสุขยาก เมื่อไม่ได้ดังใจอย่างที่เคยเสพ
การพยายามไล่ล่าหาความสุขให้ตัวเอง อาจทำให้คนเรารู้สึกผิดและหงุดหงิดใจเวลาที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ
สุขยั่งยืนกว่า…เมื่อเป็น ‘ผู้สร้าง’
มองอีกด้านหนึ่งของความสุข หากเปลี่ยนจากผู้เสพเป็นผู้สร้าง จากคนฟังเพลงกลายเป็นคนทำเพลง เปลี่ยนจากคนฟังดนตรีเป็นคนเล่นดนตรี ความสุนทรีย์ก็จะมีมากขึ้นอีกระดับ
ยามเมื่อได้สร้างสรรค์ผลงานจากฝีมือของตัวเอง ก็จะยิ่งเปี่ยมสุข
ดังนั้นคนเป็นครู ผู้เป็นโค้ช จึงมีคุณูปการอันสำคัญ ยิ่งที่จะช่วยประคองและผลักดันให้ผู้คนเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการที่สุขขึ้นไปอีกขั้น
กว่าจะไปถึงวันที่เล่นดนตรีพลิ้วไหว ตีปิงปองคล่องมือ เตะตะกร้อคล่องเท้า ก็ล้วนแต่ก้าวย่างแบบทุกข์ท้อ บ้างถึงกับทรมาน
รอจนถึงวันที่ได้หลั่งสารแห่งความสุขจากการสร้างสรรค์นั่นแหละจึงจะเข้าใจว่า การเป็นผู้สร้างนั้นมีสุขไปอีกขั้น เป็นสุขที่ผู้เสพบางรายเท่านั้นจะสามารถขยับไปถึงได้
อย่างไรก็ตาม ความสุขจากการสร้างก็ใช่ว่าจะต้องยากลำบากลำบน หรือต้องเป็นคนพิเศษ
แม้แต่คนธรรมดา หากลองเปลี่ยนบทบาทมาทำกับข้าวมาเย็บปักถักร้อย ซ่อมแซม ปะชุน เสื้อผ้า สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่ประคับประคองหัวใจ
เราจึงเห็นแม่ๆ หลายคนมีความสุขกับการทำอาหารให้ลูกๆ กิน ยิ่งมีคนมาบ้าน ยิ่งมีคนมากินด้วย คนทำก็เกิดความสำราญ
ที่สาธยายมาก็เพื่อจะแยกย่อยว่า สุขจากการเสพก็ได้ สุขจากการสร้างก็ได้ โดยผู้สร้างนั้นมักจะได้เสพไปด้วยในตัว
ทุกเวลาที่เราเขียนหนังสือ เราก็ได้เป็นผู้อ่านไปด้วย เมื่อเราร้องเพลง เราก็จะได้ฟังเพลงนั้นไปด้วย
ยิ่งถ้าแปรเป็นผลงานที่ขายได้ ยิ่งกลายเป็นทรัพย์สินคืนมา ยิ่งกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา สุขนั้นจึงทวีขึ้น ทวีคูณ
จัดการความสุข และความทุกข์
ความสุขเป็นสิ่งพิเศษ ยิ่งแบ่งปันกลับยิ่งเพิ่มพูน ความทุกข์ก็เฉกเช่นกัน หากได้ระบายก็จะได้แบ่งเบา
เราจึงไม่ควรเก็บความทุกข์ไว้ในอกโดยไม่ระบายให้ใครฟัง
เราควรจะหาวิธีแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นที่รายรอบเท่าที่จะมีแรงส่ง และยามที่รับมาจนล้นความเปี่ยมสุข ก็ควรจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
ศุ บุญเลี้ยง. (2565, มกราคม – มีนาคม) . “วิชาความสุข,” Delight Magazine. 21 (1) : 130-132