กูรูชี้ ปี 65 ไม่ห่วงเงินเฟ้อพุ่ง แต่ห่วงไทยสูญเสียโอกาสแข่งขันในระยะยาว

0
544
kinyupen

ในงานเสวนาออนไลน์ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเศรษฐศาสตร์จากสามสถาบัน กระทรวงคลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ประสานเสียงเศรษฐกิจปี 65 โตแน่ แต่ไม่ทั่วถึง ไม่ห่วงเงินเฟ้อพุ่งแรง คาดเป็นภาวะชั่วคราว ห่วงประเทศสูญเสียการแข่งขันระยะยาว

 

 

เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับปานกลาง

ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าที่พุ่งสูงจนเกิดความกังวลเรื่อง Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ โดยมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้เนื่องจากภาวะนี้เงินเฟ้อต้องเร่งตัวขึ้นสูงมากและเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.4-1.7% จากกรอบเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ในช่วง 1-3% แสดงว่ายังอยู่ในระดับปานกลาง

สำหรับราคาสินค้าที่พุ่งสูงช่วงนี้เกิดขึ้นกับสินค้าเพียงบางกลุ่มและราคาน้ำมันขึ้นแรงชั่วคราว อีกทั้งความต้องการของผู้บริโภค (Demand) ยังไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นมากจนกดดันอัตราเงินเฟ้อ

 

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเนื่องจากการฉีดวัคซีนแพร่หลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเร่งตัวของเงินเฟ้ออย่างแท้จริง

 

 

แล้วสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้คืออะไร?

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ามาก เราควรมองย้อนกลับมาว่าปัญหาเกิดจากโควิดหรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยกันแน่ ที่พึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวมากเกินไป

แนะรัฐเร่งปรับกลยุทธ์ลงทุนเพิ่มศักยภาพแรงงานเพื่ออนาคตในระยะยาว ให้จีดีพีกลับมาโตได้ตามระดับศักยภาพตามที่ควรจะเป็น

 

เพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับ 70% ยังมีความจำเป็น

ด้าน ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2563 รัฐได้ออกพรก.เงินกู้รวม 1.5 ล้านล้านบาท ในขณะนี้ยังเหลือเม็ดเงินอีกกว่า 1.5 แสนล้านบาทที่จะถูกนำมาให้ต่อในปี 2565

โดยจะเน้นกระตุ้นการลงทุนภาครัฐภาคเอกชน เนื่องจากภาคการผลิตจะเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

 

ทุกวันนี้สัดส่วนแรงงานไทย 35% อยู่ในภาคการเกษตร แต่สร้างมูลค่าเพิ่มเพียง 6% ของ GDP

ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงและไปสู่ภาคบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในลำดับถัดไป

 

ดังนั้น เพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับ 70% ในขณะนี้ยังมีความจำเป็น ตราบใดที่ภาครัฐยังก่อหนี้แต่ทำให้เศรษฐกิจโตได้มากกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไป ก็แสดงว่าขาดดุลแต่สร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ถือเป็นความยั่งยืนทางการคลังที่ส่งผลดีในระยะยาว และจะเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลได้ในที่สุด

 

 

หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบข้ามปี

ในขณะที่หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบข้ามปี น.ส.บัณณรี ปัณณราช ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ธปท.มีการปรับนโยบายอย่างต่อเนื่อง หากมาตรการใดเข้าถึงได้น้อยก็จะปรับให้ยืดหยุ่นหรือขยายเวลามากขึ้น มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมและเพิ่มเกณฑ์ LTV สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กู้ยืมได้มากกว่าปกติ

 

แรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้จีดีพีปี 2565 โตได้ตามเป้า 3.4% ต้องมาจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้ามา โดยคาดว่าจะมีเพียง 5.6 ล้านคนในปีนี้

 

ทางธปท.จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้บรรดาประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจโตแรงจนเงินเฟ้อพุ่งสูงและอาจเกิดการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

แต่ผลกระทบมายังไทยจะเกิดในฝั่งตลาดเงินตลาดทุนเป็นสำคัญ ไม่ได้กระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง มั่นใจเครื่องมือรองรับความผันผวนยังมีอยู่ เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

 

 

แนะแนวทางประคับประคองเศรษฐกิจไทย

ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าไม่ต่างจากปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวในลักษณะ K-shaped recovery จากการส่งออกฟื้นได้ดี แต่ธุรกิจขนาดเล็กยังลำบาก

 

ในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ รัฐต้องประคับประคองเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไปโดยเร่งติดตามมาตรการที่ออกไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วที่สุด

 

รักษาการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวและบริการ รักษาฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ได้รับผลกระทบจนต้องปิดโรงงาน และต้องดูแลระดับราคาสินค้าและรายได้ภาคการเกษตรไว้

 

ในระยะถัดไปเมื่อมีการเปิดประเทศ ทางสภาพัฒน์ฯ มองว่าอาจใช้เวลา 3-4 ปี ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาที่ 40 ล้านคนเหมือนช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะจีนมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ไทยจึงต้องเน้นเพิ่มคุณภาพของกลุ่มนักเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ให้ประเทศยังสามารถรักษารายได้จากการท่องเที่ยวได้

 

ทั้งนี้ การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ต้องมีปรับใหม่ทั้งหมดและจะประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากคาดการณ์เดิมไม่ได้รวมผลกระทบของไวรัสโอมิครอน

kinyupen