ความเจ็บปวดของเด็กรุ่นใหม่ พ่อแม่จะเข้าใจบุตรหลานได้อย่างไร?

0
1306
kinyupen

คำสอนของคนยุคเก่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป ในวันที่โลกซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม คนที่เป็นผู้ใหญ่จะสามารถอยู่ร่วมกับบุตรหลานของตัวเองได้อย่างไร

 

 

เนื่องในโอกาสวันเด็กนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตรวบรวมปัญหาของคน GEN ใหม่ มองภาพกว้างถึงสังคม การใช้ชีวิตเพื่อหาทางออกร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตาม

 

อย่างที่เราเคยกล่าวไว้ใน 100+ พอดแคสต์ EP4 : ภัยคุกคามจากความคาดหวัง

“มนุษย์เราเชื่อมาหมื่นปีแล้ว ว่าหากเราทำงานหนักแล้ววันข้างหน้าจะสบาย แต่ผลที่สะท้อนออกมามนุษย์ก็ไม่ได้สบายขึ้นเลย
ยุคเกษตรกรรมกลัวฟ้าฝน จึงต้องเก็บเกี่ยวทำงานให้มากที่สุด ผลคือเสี่ยงโดนโจรปล้น และเกิดสงคราม ต้องลงแรงปกป้องสิ่งนั้นเรื่อยมา
ตัดมายุคนี้…เราไม่ต้องรอจดหมายเป็นวันๆ รับส่งแค่ปลายนิ้ว กลับยิ่งต้องจดจ่อ ต้องตอบอีเมลให้เร็วที่สุดซะงั้น”
ยิ่งสะดวกสบาย ยิ่งทำงานหนักขึ้น ยิ่งต้องเรียนหนักขึ้น เสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น ยิ่งต้องแข่งขันมากขึ้น

 

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องความต่างวัย ในหัวข้อ ‘คนรุ่นใหม่ vs ผู้ใหญ่ เมื่อความดีของเราไม่เหมือนกัน’ ไว้ว่า

 

‘ความคาดหวัง’ ของคนรุ่นก่อนและ ‘ความสุข’ ของคนรุ่นนี้มักสวนทางกัน

อาจดูเหมือนคนเด็กใหม่เป็นกลุ่มคนที่กล้าคิด กล้าทำ และมีช่องทางในการแสดงออกถึงความรู้สึกได้มากมาย แต่ถ้าลองย้อนดูผลสำรวจต่างๆ จะพบว่า คน GEN ใหม่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความรู้สึกทุกข์มากกว่าคำว่าสุขหลายเท่า

 

เพราะคนรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกวิตกกังวลจากสิ่งที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียน, การทำงาน หรือการทำหน้าที่ตามบทบาททางสังคมที่มักจะได้รับการจับจ้องและคาดหวังจากผู้ใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองยังทำได้ไม่ดี ไม่มีคุณค่า

 

นำพาไปสู่โรคภัยต่างๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะ ‘โรคซึมเศร้า’ ที่มีความเครียดสะสมและสภาพแวดล้อมที่กดดันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นทำให้อาการของโรคกำเริบหนักขึ้น บานปลายไปจนถึงหลายคนถึงขั้นจบชีวิตของตัวเองลงเลยก็มี

 

 

โลกหมุนเร็วเป็นดาบสองคม : ฝันร้ายของคนยุคใหม่ ที่ความขยันอย่างเดียวไม่พอ

คนรุ่นก่อนมักมีคำขวัญประจำใจว่า ‘ลำบากวันนี้สบายวันหลัง’ หล่อหลอมคน GEN ก่อนๆ ให้ฮึดสู้กับปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่ต้องเจอ ทำให้คนในรุ่นก่อนที่เติบโตมากับความอดทนและภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่มีมากกว่า

 

เด็กยุคเก่านั้นล้วนมั่นใจว่าความขยัน จะสามารถพาเราไปได้ถึงเส้นชัย แต่ความขยัน อดทนใช้ไม่ได้เต็ม 100% สำหรับคนรุ่นใหม่

เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่ตัวเองอีกแล้ว มันขึ้นอยู่กับอย่างอื่นที่เหนือการควบคุม นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพสังคม คู่แข่งที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ปัญหาการศึกษาที่พังตั้งแต่ระบบ

 

…ไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนจะรู้สึกโกรธแค้นในโชคชะตา และรู้สึกสิ้นหวัง กับโลกพังๆ ถูกส่งต่อมาให้

 

  • ความมั่นคงที่มองไม่เห็น

เด็กในยุคใหม่ อย่าว่าแต่อนาคตอีกห้าปีสิบปี แค่วันพรุ่งนี้จะได้เรียนหนังสือมั้ยก็ยังมีปัญหา ระบบการศึกษากลายเป็นเรื่องตลก ความมั่นคงในอนาคต กลับกลายเป็นภาพลวงตา

 

  • การเก็บเงิน การสร้างตัวที่ยากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้ช่องทางการหารายได้ในยุคนี้จะมีมากมาย แต่เรื่องเก็บเงินสำหรับยุคก่อนก็ง่ายกว่าร้อยเท่า ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 10% ตัดภาพมาตอนนี้เหลือไม่ถึง คนรุ่นใหม่จึงต้องยอมพาตัวเองไปเสี่ยงกับสินทรัพย์ต่างๆ ดิ้นรนหาความรู้เรื่องการลงทุนให้เป็นอีกหนึ่งทักษะ

 

 

  • ทักษะตกยุคเร็วมาก ต้องหาทักษะใหม่เรื่อยๆ

หลายคนอาจนึกอิจฉาเด็กสมัยใหม่ มีสิ่งบันเทิง มีเทคโนโลยี มีทักษะใหม่มากมายให้เรียนรู้

 

แต่จากการที่คนคนหนึ่งควรจะเชี่ยวชาญทักษะอะไรสักอย่าง และสามารถใช้มันหาเลี้ยงชีพไปได้จนวันตาย แต่โลกทุกวันนี้กลับโหดร้าย และหมุนเร็วเสียจนใครๆ ก็ตามไม่ทัน

กว่าเด็กๆ จะทุ่มเทฝึกฝนจนพอจะเก่งอะไรขึ้นมาสักอย่าง สกิลนั้นก็ตกไทป์ ไม่เป็นที่ต้องการของยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว

 

คลิปนำเสนอ “ความเจ็บปวด” ของเด็กรุ่นใหม่ โดย นวล

 

เมื่อเด็กรู้สึกเหนื่อย ต้องการที่ปรึกษาหรือระบายกับผู้ใหญ่ เรามักเจอคำพูดประเภท

“สมัยฉันลำบากกว่านี้อีก”

“ตอนเด็กๆ ฉันต้องเดิน 10 กิโลฯ ไปโรงเรียน แค่นี้ก็ทนไม่ได้”

“แค่เรียนหนังสือ จะคิดมากอะไรนัก”

เลิกใช้คำพูดแนวนี้ปลอบเด็ก คุณลำบากจริงๆ แต่ความลำบากตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครลำบากมากกว่าใคร สมัยก่อนอาจลำบากกาย แต่สมัยนี้ลำบากใจ

แม้สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ก็แลกมาด้วยที่ชีวิตที่รวดเร็ว รีบเร่ง แข่งขันพัฒนากันไม่มีหยุด

 

จะดีกว่าไหม? ถ้าสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการรับฟังและเสนอแนะความคิดกันตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจ ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจของคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

kinyupen