ข้อมูลออนไลน์ Big data กับความปลอดภัยในข้อมูลต้องมาคู่กัน เพื่อไม้ให้เกิดเหตุอย่างข้อมูลรั่วไหลอย่างที่เป็นข่าว
เงินถูกตัดผ่านบัตรเดบิต-บัตรเครดิต เงินถูกดูดโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ทำธุรกรรม ทำให้หลายคนกังวลว่าการซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ หรือผูกบัตรเครดิตจากที่ต่างๆ จะทำให้กลุ่มมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยใช้จ่ายแบบที่ประเด็นช่วงนี้
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มี “แนวทางการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย” จากสมาคมธนาคารไทย (อัปเดตล่าสุด วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564) มาฝาก
แม้สมาคมต่างๆ อย่าง ธนาคารไทย สำนักงานระบบการชำระเงิน ศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตและชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริตภายใต้สมาคมธนาคารไทย จะร่วมกันแก้ไขปัญหาและวางมาตรการป้องกันปัญหาเชิงรุกมาตลอด พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนถึงภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มมิจฉาชีพพยายามแสวงหาวิธีการต่าง ๆ มาหลอกลวงประชาชน ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง SMS Email Facebook Line และเว็บไซต์ปลอม
สมาคมฯ จึงได้รวบรวมแนวทางการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้ทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้อย่างมั่นใจ ดังนี้
10 แนวทาง ทำ “ธุรกรรมออนไลน์” อย่างปลอดภัย
1. ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กับร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ
2. พยายามหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมการเงิน หรือไม่ผูกข้อมูลบัตรเครดิตกับร้านค้าออนไลน์ หรือ แพลตฟอร์มที่ไม่มีระบบการยืนยันตัวตนด้วย OTP หรือที่ไม่ใช้เทคโนโลยี 3D Secure
3. ไม่ส่งต่อ OTP ให้กับบุคคลอื่น ไม่ว่ากรณีใดๆ
4. ตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์
5. ไม่ใช้รหัสผ่านร่วมกันในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และร้านค้าออนไลน์
6. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว รวมถึงข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขบัญชี หมายเลขบัตรเดบิต บัตรเครดิต เลขท้ายหลังบัตรเครดิต (CVV) แก่บุคคลอื่น (ธนาคารไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ SMS และโซเชียลมีเดีย)
7. ปรับวงเงินสำหรับการชำระสินค้าให้เหมาะสมกับการทำธุรกรรมการเงินในโลกออนไลน์ หรือปรับวงเงินชำระสินค้าเป็นศูนย์ชั่วคราว หากยังไม่มีความต้องการจะใช้ชำระค่าสินค้า
8. สังเกตการแจ้งเตือนบัญชี เงินเข้า-เงินออก จากธนาคาร และหมั่นตรวจสอบยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตอย่างสม่ำเสมอ
9. หากพบรายการบัญชีผิดปกติ ควรติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรโดยตรงทันที หากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามผ่านช่องทางบริการต่าง ๆ ของธนาคาร หรือ ธปท.
10. ติดตามข่าวสารจาก TB-CERT และช่องทางที่เป็นทางการของทางธนาคาร
สุดท้าย ทางสมาคมธนาคารไทยอยากฝากให้ทุกคนดำเนินการตาม 10 ข้อแนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากพบรายการผิดปกติให้ติดต่อธนาคารทันที โดยธนาคารพร้อมให้บริการที่ดีและมีความรับผิดชอบ
การระวังภัยรอบตัวเอาไว้ก่อน คือปราการด่านแรกที่ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง