หลายคนหวาดระแวงกับโรคโควิด-19 สับสนใจตัวเองว่า ติดหรือยังนะ? อาการแบบนี้..ใช่หรือเปล่า? ข่าวร้ายต่างๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ระบบสาธารณสุขที่กำลังเสียหาย เตียงไม่พอ หมอไม่รับตรวจ ต้องซื้อ Rapid Test Antigen ตรวจเอง มาตรการช่วยเหลือก็พึ่งพาไม่ได้ ทำให้เราจำต้องพึ่งตัวเองในเรื่องสุขภาพ ถึงจุดที่เราต้องประเมินอาการเอาเอง จัดการตัวเองเสียแล้ว
แล้วอาการแบบนี้ควรกักตัวที่บ้าน หรือรีบไปหาเตียง อาการระดับไหนที่ควรถึงมือหมอ บางคน Rapid Test Antigen ตรวจโควิด-19 มันทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้พวกเราสติแตกไปเสียก่อน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต รวบรวมข้อมูลการตัดสินใจเบื้องต้นมาจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ มาฝาก
Antigen Test ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง
นอกจากป้องกันตัวเองแบบการ์ดไม่ตกแล้ว การตรวจคัดกรองด้วยตนเองก็สำคัญเพราะด้วยเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กลายพันธุ์เวลาที่เราติดเชื้อ มักจะไม่มีอาการในช่วงเริ่มต้นจนกว่าจะแพร่กระจาย แต่เราตรวจ Rapid Test ชนิด Antigen Test Kits ไว้ประจำบ้านและตรวจสอบด้วยตนเองได้แล้ว
โดย Rapid Test เป็นเสมือนชุดตรวจคัดกรองด่านแรก ลดกังวล ลดค่าใช้จ่ายหากไม่มีการติดเชื้อและลดจำนวนลดภาระของเจ้าหน้าที่และห้อง Lab
อ่าน อยู่บ้านคัดกรองโควิด Rapid test รู้ก่อนใช้
ตรวจ Antigen Test เองแล้วผลเป็นบวก ต้องทำอย่างไรต่อ
นโยบายใหม่ของกรมการแพทย์ อนุญาตให้ผู้ที่ซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit ไปตรวจเองที่บ้านแล้วผลเป็นบวก ทำการรักษาแบบ Home Isolationได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ
Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน คือ อีกหนึ่งวิธีในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการแสดง หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย
กรณีติดต่อรักษา Home Isolation แล้ว ให้เข้าระบบ Home Isolation ลงทะเบียนที่ https://crmsup.nhso.go.th หรือไลน์ @nhso
ถ้ายังไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง หรือติดต่อคลินิกฯ และ รพ.ตามสังกัดของเราไม่ได้ โทร.ไปหาเบอร์เหล่านี้อีกครั้ง
- สิทธิบัตรทองโทร.ไปที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
- ส่วนสิทธิประกันสังคม โทร.ไปที่สายด่วน 1506 กด 6
- ATK = Antigen Test Kits
- HI = Home Isolation
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ตรวจ Antigen Test พบว่าติดเชื้อแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) อีกขั้นจากห้อง Lab หรือโรงพยาบาล เพราะจะให้ผลที่แม่นยำ และเข้ารับการรักษาใน รพ.ต่อไป
ใครที่ระหว่างทำ Home Isolation แล้วอาการรุนแรงขึ้น ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจแบบ RT-PCR และหาเตียงทันที
ดูอย่างไรว่าอาการหนักแค่ไหน?
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งอาการของผู้ป่วยโควิด-19 มี 3 สี แยกประเภทดังนี้
- ผู้ป่วยสีเขียว : เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้ มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาขึ้นไป
- ผู้ป่วยสีเหลือง : ไอ/มีน้ำมูก แน่นหน้าอก ปอดอักเสบ เวียนหัว ไอแล้วเหนื่อย ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า อาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
- ผู้ป่วยสีแดง : หอบเหนื่อยหนักมาก แน่นหน้าอก หายใจเจ็บ อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตอะไรก็แล้วแต่ จงมีสติ และค่อยๆ คิดหาทางออกเป็นลำดับ ยังมีความช่วยเหลืออีกมากจากจิตอาสา อินฟลูเอนเซอร์ องค์กรต่างๆ ที่ไม่แสวงผลกำไร
และอย่าลืม ให้ “ทุกคน” หมั่นสังเกตอาการของตัวเอง และเคร่งครัดมาตรการ DMHTTA เว้นห่าง สวมแมสก์ ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ งดคลุกคลีหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นกันต่อไปนะคะ