เศรษฐกิจแย่ หุ้นถูก เก็บเงินไว้ หรือลงทุนดี?

0
643
kinyupen

ไทยเข้าวิกฤตขนาดนี้ เห็นด้วยว่าควรถือเงินสดไว้ กันชีวิตล่มจมจากเหตุไม่คาดฝัน แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจแย่แบบนี้ ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เก็บหุ้น กองทุน หรือสินทรัพย์ดีๆ ที่ราคาตกจากคนเทขายเช่นกัน แล้วควรเอาเงินไปไว้ตรงไหนดี?

เรามักเจอการแชร์ประสบการณ์ของนักลงทุน ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ พวกเขาเก็บหุ้นไทยเมื่อเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ เก็บหุ้นต่างประเทศตอนทั่วโลกประสบปัญหาโควิด-19 จนปัจจุบันหุ้นโต ได้ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 100% 200% ทำให้พวกเราตาลุกวาว

 

สอดคล้องกับทฤษฎีที่ให้เก็บหุ้นพื้นฐานดี สินทรัพย์ราคาถูก ทุกครั้งที่มีวิกฤต

“ในวิกฤตมิโอกาส”

“หุ้นกำลังถูก ต้องรีบช้อนซื้อไว้”

 

สิ่งเหล่านี้กล่าวถูกต้องทั้งหมด แต่กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตขอเตือนว่า คุณจะทำตามเขาแบบไม่ลืมหูลืมตาไม่ได้ ต่อให้คุณศึกษามาอย่างดีแล้ว ก็ต้องไม่ลืมพิจารณาตนเอง ว่า “มีเงินสำรองฉุกเฉินหรือยัง?”

 

 

เงินสำรองฉุกเฉิน สำคัญไฉน?

เงินออมฉุกเฉิน ปราการด่านแรกในการป้องกันปัญหาการเงิน (คำนี้ SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบอกเองเลยนะ)

เงินสำรองนี้ คือสิ่งที่ทุกคนควรเตรียมไว้ให้พร้อม เงินก้อนนี้จะช่วยรองรับการใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้ เผื่อซ่อมหนักๆ หรือเป็นเผื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นเงินก้อนนี้จะไม่เกี่ยวกับการใช้สานต่อความฝันแต่อย่างใด แต่มีไว้กันวิกฤตทุกอย่างที่คุณไม่คาดคิด

 

จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปควรเก็บเงินออมฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ 3 6 เดือนอาจไม่พอสำหรับวิกฤตโควิด-19 ที่เจ็บแต่ไม่เคยจบ นักลงทุนบางคนเผื่อเงินสำรองไว้ 1 ปีเลยทีเดียว

 

ผู้ที่ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน หรือมีไม่มากพอ เมื่อประสบปัญหาขึ้นมามักจบด้วยการเป็นหนี้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือพาลให้แผนการเงินด้านอื่นๆ สะดุด เช่น ต้องขายหุ้นมาใช้จ่าย ถอนเงินสำหรับเกษียณมาจุนเจือในปัจจุบันแทน

 

จะเจ็บตัวอย่างไร? ถ้าตัดสินใจลงทุน โดยไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน

คุณก็ต้องขายหุ้น หรือขายสินทรัพย์ของคุณ เพื่อต่อชีวิตที่ฉุกเฉินของคุณไงล่ะ และส่วนใหญ่ ต้องขายขาดทุน เพราะต้องขายด่วน ด่วนจริงๆ ไม่มีต่อราคา หรือรอให้ราคาขึ้นทั้งนั้น

 

  • หากเป็นหุ้น กองทุน คริปโตเคอเรนซี่ ฯลฯ หากเกิดเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน แล้วเงินสำรองไม่พอ ไม่ว่าพอร์ตจะติดลบแค่ไหน แดงเถือกยังไงก็ต้องขาย และต่อให้พอร์ตของคุณยังได้กำไร ก็เป็นการตัดโอกาสที่หุ้นจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ อยู่ดี (ขายหมู)
  • ยิ่งหากเป็นบ้าน หรือคอนโด ยิ่งต้องขายขาดทุน เพราะบ้านถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ไม่มีใครกำเงิน 5 ล้านมาซื้อบ้านได้ตลอดเวลา ต้องลดแลกแจกแถม เพื่อให้ขายออกโดยเร็ว เพราะความร้อนเงิน
  • หากเป็นสลากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่มีกำหนดระยะเวลาถอนคืน ความเสี่ยงต่ำ ไม่สูญเสียเงินต้น 100% ก็จริง แต่หากต้องถอนมาใช้ก่อนกำหนด ถ้าโชคดีก็แค่ไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่ถ้าผิดจังหวะมากๆ ก็ต้องเจอกับค่าปรับ แม้จะไม่มากก็ขาดทุนอยู่ดี

 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าลงทุนโดยไม่มีเงินออมมากพอ แทนที่จะลงทุนเอากำไร กลับต้องจำใจขายเพื่อต่อชีวิต ตัดโอกาสการทำกำไรเสียเอง

 

การวางแผนการเงินต้องมองไปให้ถึงระยะยาว ดังนั้นต้องเริ่มเก็บเงินสำรองให้ครบก่อนเริ่มลงทุน

 

เงินสำรองฉุกเฉิน ควรออมไว้ที่ไหน?

เงินฉุกเฉิน มีไว้ใช้ยามเร่งด่วน ดังนั้นควรเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง ถอนง่าย ใช้จ่ายสะดวก ไม่มีความเสี่ยงที่ทำให้เงินต้นสูญหาย เช่น

  • บัญชีฝากออมทรัพย์หรือบัญชีเผื่อเรียก
  • กองทุนรวมตลาดเงินซึ่งนอกจากมีสภาพคล่องสูงแล้ว ยังได้ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์

 

กรณีที่เป็นมือใหม่หัดเก็บเงิน ใส่เงินไว้ในสภาพคล่องมากๆ แล้วเก็บเงินไม่อยู่ ให้ลองสร้างแผนหักเงินออมก่อนใช้ หักอัตโนมัติเมื่อเงินเดือนออก แล้วไม่ต้องไปยุ่งกับบัญชีนั้นอีก เดี๋ยวเกิดกิเลส ฮ่า

 

สุดท้ายนี้ กินอยู่เป็น ขอให้ทุกคนวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ คิดถึงทุกความเสี่ยง และเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้มากพอ เพื่อไม่ให้ชีวิตสะดุด เมื่อมีเบาะรองรับไว้ ต่อให้พลาดท่าอย่างไรก็ล้มบนฟูก ทีนี้คุณก็ลงทุนอย่างสบายใจได้เลย

kinyupen