กระแสไม้ประดับสุดแพงในศตวรรษที่ 16 กับกระแสไม้ด่างฟีเวอร์ในปัจจุบัน ต่างกันที่ตอนนี้ฟองสบู่ยังไม่แตก
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีเรื่อง ”อีหยังวะ” ในฟองสบู่แรกของโลกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งถ้าใครได้ยินเป็นครั้งแรกคงรู้สึกคุ้นๆ เพราะนั่นคือการลงทุน “ดอกทิวลิป” ฟังดูคล้าย “มอนสเตอร่าใบด่าง” ต้นหนึ่งราคาเป็นล้าน ในตอนนี้ไม่มีผิด
โลกแห่งการเก็งกำไรนั้นเปิดกว้าง ในยุคใหม่ นอกจากหุ้น เราสามารถลงทุนได้ทั้ง เหรียญที่จับต้องไม่ได้อย่างสกุลเงินดิจิทัล การเล่นกับสินค้าฟุ่มเฟื่อย อย่างรถ กระเป๋าแบรนด์เนม งานศิลปะ
แต่เมื่อ 389 ปีก่อน ของฟุ่มเฟือยที่คนรวยนิยมกันคืออะไร ทอง? เพชรพลอย? ผิดถนัด มันคือดอกไม้!!
และเป็นจุดที่ทำให้ทั้งโลกรู้จักคำว่า “ฟองสบู่แตก”
ฟองสบู่แตกคืออะไร?
เปรียบสินทรัพย์ ที่มีคนสร้าง “มูลค่า” ให้กับมันตาม “ความเชื่อในบางเรื่อง” เป็นฟองสบู่สีสันสวยงาม ล่องลอยขึ้นไปบนอากาศ ทำให้เรามีความสุข เพลิดเพลินกับราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ “ความโลภ” ทำให้เราลืมคิดถึง “มูลค่าที่แท้จริง” จนถึงระดับหนึ่งแล้ว ฟองสบู่มันจะแตกตัวไปเอง (ราคาดิ่งลงเหวจ้า)
เหตุการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรก เกิดขึ้นกับดอกทิวลิปนี้เอง โดย “วิกฤตฟองสบู่ทิวลิป” นี้ เรียกเท่ๆ ว่า “The Dutch Tulip Mania Bubble”
เหตุเกิดใน ประเทศเนเธอแลนด์ ดินแดนแห่งทุ่งทิวลิปอันสดใส ปี ค.ศ. 1600-1700 ช่วงยุคทองของดัตช์ เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง เป็นช่วงที่คนมีเงินต้องการซื้อของที่แสดงถึงฐานะความร่ำรวย (เปรียบกับยุคนี้ คงเป็นของแบรนด์เนม) และเป็นช่วงที่ดอกทิวลิปนำเข้ามาพอดี
ซึ่งดอกทิวลิปนั้นไม่ใช่พืชพื้นเมืองยุโรป มันจึงดูสวยงามแปลกตา สมัยนั้นถ้าใครมีดอกทิวลิป ยิ่งถ้ามีหลากหลายสี ถือว่าไฮโซมาก
ชาวดัตช์จึงเห็นว่าถ้านำดอกทิวลิปมาปลูกขาย คงจะได้ราคาดีแน่ๆ จึงเริ่มอยากได้หัวทิวลิปสำหรับการนำมาปลูก ซึ่งดอกทิวลิปนั้นจะออกเดือนมิถุนายน-กันยายน เท่านั้น จากนั้นถึงจะได้หัวทิวลิปไปปลูกต่อได้กำไร
พอถึงเดือนตุลาคม จะมีคนมารอซื้อหัวทิวลิปกันเพียบ ซึ่งแน่นอนมันหายากในตอนนั้น มันมีจำนวนจำกัด เพราะพึ่งเข้ามาได้ไม่นาน จึงเกิดการซื้อ-ขายใบจองขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า สัญญาซื้อขายทิวลิปล่วงหน้า (Future Contract)
ถึงจุดที่ดอกทิวลิปราคาแพงกว่าที่ดิน
เมื่อมีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้น ก็เกิดการเก็งกำไรจากพ่อค้าต่างๆ จากแรกๆ ราคาหัวทิวลิป 1 หัว เท่ากับ 5-15 กิลเดอร์ (ค่าเงินของชาวดัทช์) แต่แล้วราคาของมันก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคนต้องการเป็นจำนวนมาก จาก 15 เป็น 50 เป็น 100
ปริมาณความต้องการมากขึ้นราคาของสินทรัพย์จึงเพิ่มขึ้นตามกฎอุปสงค์ จนราคาของสินทรัพย์วิ่งนำปัจจัยพื้นฐานไปมาก มีบันทึกไว้ว่า มีการนำที่ดินถึง 12 เอเคอร์ (49,000 ตารางเมตร) มาแลกกับ “Semper Augustus” เพียงหัวเดียว
ดอกทิวลิป Semper Augustus ถือเป็นดอกทิวลิปที่สวยที่สุดในยุคนั้น ราคาของมันมีมูลค่าสูงสุดถึง 12,000 guilders เทียบปัจจุบันก็ 2 แสนกว่าบาท แต่ในยุคนั้น มานี่ว่าน่าจะประมาณ 4 ล้านกว่าบาท
แต่แล้วก็ถึงวันที่ทิวลิปแสนสวย ได้ร่วงโรยลงไป
วันที่ 3 ก.พ. 1637 การขายสัญญาซื้อขายก็หยุดชะงักลง เมื่อมีการประกาศขายสัญญาดอกทิวลิปที่ 200 กิลเดอร์นั้นไม่มีผู้ซื้อแล้ว จึงทำให้เกิดการวิตกกังวลของทุกคนขึ้น ฟองสบู่ที่สะสมมากับดอกทิวลิปตอนนี้มันถึงเวลาแตกแล้ว
ทุกคนต่างคิดว่าราคาได้ถึงระดับที่สูงที่สุดแล้ว
ทุกคนต่างพากันรีบขายสัญญากันใหญ่ แต่ไม่มีใครอยากจะซื้อแล้ว ทำให้ราคาดิ่งลงเหวจาก 200 กิลเดอร์ กลับมาเหลือแค่ 10 กิลเดอร์ และยุคทองของดัทช์ก็ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน
หัวดอกทิวลิปที่ต่อให้สวยงามหรือมีสีสันหายากแค่ไหน ปัจจัยพื้นฐานของมันคือ “ดอกไม้ที่หายาก” เท่านั้นเอง..
หลังจากเหตุการณ์นี้ก็มีฟองสบู่อีกหลายชนิดตามมา เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง 1997 วิกฤตซับไพรม์ 2008 ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ก็เกิดจากความต้องการที่จะเก็งกำไรของคนเรา ทำให้ลงเอยด้วยวิกฤตฟองสบู่แตก แล้วเราเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง
จงรู้ทันฟองสบู่ ก่อนที่มันจะแตก เพราะคริปโตเคอเรนซี่ ใบมอนสเตอร่า หรือแม้แต่การเก็งกำไรสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับทิวลิปดอกแรก
ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยตัวมันเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตาม…
เรียบเรียงจาก
- ทำไมถึงต้องฟองสบู่ ? รู้เท่าทันก่อนที่มันจะแตก (aommoney.com)
- ย้อนรอย วิกฤตฟองสบู่แตก ครั้งแรกของโลก!! – FINNOMENA