6 นิสัยเสีย ปรับตัวก่อนโดนแบนในที่ทำงาน

0
974
kinyupen

เป็นคนตรงๆ ดูเหมือนจะดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับตัวตนเราได้อย่างแท้จริง คงไม่สนุกแน่ๆ หากต้องโดนเหม็นหน้าไปทั้งวัน

 

หลายคนอาจเคยหงุดหงิด รำคาญใจกับพฤติกรรมเพื่อนร่วมงานจนต้องบ่น @#$% ในใจ แต่ขณะเดียวกัน “นังงูพิษนั่น” อาจกลายเป็นตัวเราเสียเอง ในสายตาใครสักคนได้เหมือนกัน

ช่วงนี้เพื่อนร่วมงานทำตัวแปลกๆ กับคุณหรือเปล่า? ถ้ายังไม่รู้ตัว ไม่นานอาจโดนแบนเอาได้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ชวนสังเกตตัวเองซิว่านิสัยเสี่ยงไม่ดีข้อใดบ้าง ที่คุณอาจมีโดยไม่รู้ตัว

 

1. แก้ตัวอยู่ร่ำไปเวลาถูกตำหนิ

เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิติเตียนงานบางอย่างที่ทำ มักโยนความผิดทุกอย่าง โทษปัญหาทุกอย่าง ยกเว้นตัวเอง หาแพะเพื่อเอาตัวรอด

ทางที่ดีคือรับฟังอย่างใจเย็น และระลึกเสมอว่าจะไม่แสดงอาการต่อต้านใดๆ หรือปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวโดยเด็ดขาด และให้รีบแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้นๆ แต่ถ้าหากสิ่งที่โดนตักเตือนอยู่บ่อยๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของคุณ ก็ควรพูดคุยกันส่วนตัวถึงปัญหานี้

 

2. เอาดีเข้าตัว ทำงานเอาหน้า

เอาดีเข้าตัว กลับกันกับข้อ 1 ที่เอาชั่วให้ผู้อื่น เมื่อเป็นเรื่องดีๆ ก็ออกตัวแรงรับคำชม พรีเซนต์งานราวกับว่าทุ่มเทอยู่คนเดียว ประจบประแจงเก่ง เหยียบย่ำเพื่อนร่วมงานขึ้นให้ตัวเองโดดเด่น ให้ตนเองเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่แปลกที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานหมั่นไส้

มีวิธีเจริญก้าวหน้าในที่ทำงานมากมายที่ไม่เบียดเบียนใคร อย่าเห็นแก่ตัว เอาความดีความชอบให้แต่ตัวเอง ให้เครดิตแก่เพื่อนร่วมงานและคนเสนอไอเดีย พากันทำงานเป็นทีม จะดูเป็นผู้นำที่ดีได้มากกว่า

 

3. พูดแต่เรื่องที่ไม่สมควรพูด ดีแต่พูดแต่ไม่ทำ

ดีแต่พูด แต่ไม่ยอมลงมือทำ แต่เมื่อมีคนทำกลับใส่วิญญาณผู้รู้ วิจารณ์เก่ง แต่หาสาระในคำพูดไม่ได้ ไม่รู้พูดเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างความรำคาญ ไม่ใช่การติเพื่อก่อ แต่ติเอาสะใจอย่างเดียว บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน

อย่าพูดเพื่อสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงาน การติเพื่อก่อ คือการแสดงความคิดเห็นในขอบเขตของการทำงาน ที่เพื่อนร่วมงานสามารถนำไปพัฒนางานให้ดีขึ้นได้

 

4. อวดเก่ง ไม่พยายามทำความเข้าใจ

อีโก้สูง ไม่พยายามทำความเข้าใจโจทย์ที่ได้มา ให้เวลาน้อยนิดกับเรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้มากที่สุด ทำไปให้เสร็จๆ แล้วคนอื่นต้องมานั่งแก้ เอางานมาให้คนแบบนี้ยิ่งเสียเวลา ทั้งเวลาแก้ไข และเสียเวลาทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง

ให้ลดอีโก้ตัวเองลง ดูตัวอย่างงานเก่าๆ ที่ผู้อื่นเคยทำไว้ ขอความช่วยเหลือในเรื่องที่ควรขอ ปรึกษาใครสักคนที่จะให้คำแนะนำได้ (ไม่ควรขอความช่วยเหลือกะทันหัน และต้องได้เดี๋ยวนั้นเลย ดูก่อนว่าเขายุ่งอยู่หรือไม่ อาจส่งหัวข้องานคร่าวๆ ของโครงการที่คุณทำอยู่ผ่านทางอีเมลก่อน) และวางแผนล่วงหน้าก่อนทำงานทุกครั้ง

 

5. ขี้นินทาเพื่อนร่วมงาน

ไม่มีใครชอบให้ตัวเองเป็นหัวข้อในการสนทนา หากวันนี้เรานินทาคนอื่นได้ เวลาที่คุณไม่อยู่ก็จะโดนเป็นเป้าหมายการนินทาได้เช่นกัน เพื่อนร่วมงานไม่ชอบหน้า เพราะกลัวโดนคุณเอาไปนินทา และระวัง คุณอาจใส่อารมณ์มาก บอกเล่าเกินจริง ใส่สีตีไข่ในวงสนทนา พาลหมดความน่าเชื่อถือ

หากคุณตกอยู่ในวงซุบซิบนินทา หรือมีการเปิดประเด็นที่คันปาก อยากเมาท์ ให้ค่อยๆ แยกตัวเองออกจากวงสนทนาที่อันตรายอย่างสุภาพ เช่น ตอนนี้งานยุ่งมาก ขอรีบกลับโต๊ะก่อนนะคะ/ครับ

 

6. ล้ำเส้นชีวิตส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน

เลิกงานคือเลิกงาน วันทำงานก็วันทำงาน อย่าก้าวก่ายเวลาและเรื่องส่วนตัวของใคร ไม่จำเป็นต้องอยากรู้ไปหมดทุกเรื่อง หากเขาอยากเล่า เดี๋ยวเขาจะบอกเอง

หากเราเป็นห่วงชีวิตเขาจริง ก็ควรให้เกียรติเขา เมื่อเขาพร้อม เขาจะมาขอคำปรึกษาเอง และเก็บความลับให้อยู่หมัด ไม่ใช่เอาเรื่องนี้ไปคุยให้คนอื่นฟังต่อ แล้วสุดท้ายก็วนไปที่ข้อ 5

 

หากใครแสดงอาการเอือมๆ ใส่ ให้พิจารณาตัวเองว่าเป็นคนประเภทนี้หรือไม่ ต้องร่วมงานกันแต่โดนเพื่อนร่วมงานแบน ทีมเวิร์คพัง ส่งผลเสียกระทบถึงการทำงาน คงไม่สนุกแน่ รู้อย่างนี้แล้ว “อยู่เป็น” และ “ปรับตัวเองเสียใหม่” คงไม่สายสำหรับอนาคตการทำงานดีค่ะ

อ่าน วิธีอยู่เป็น ในที่ทำงาน – Kinyupen

kinyupen